มิจฉาทิฏฐิ
มิจฉาทิฏฐิ
———–
เมื่อวันพระก่อน ผมไปทำบุญที่วัดมหาธาตุราชบุรีตามปกติ ขณะเดินกลับบ้าน กำหนดอิริยาบถไปพลาง ตรึกถึงข้อธรรมไปพลาง
คงไม่มีใครสงสัยว่ากำหนดอิริยาบถกับตรึกข้อธรรมเป็นกิจคนละอย่างกัน ทำพร้อมกันไปได้หรือ
ตามหลักแล้วทำคนละขณะจิตกันครับ แต่เพราะความเร็วของจิตจึงทำให้รู้สึกเหมือนกับว่าทำพร้อมกัน
ข้อธรรมที่ผมตรึกก็คือ “มิจฉาทิฏฐิ” นึกถึงพระพุทธพจน์ในพระไตรปิฎกที่ตรัสว่า
………………………….
นาหํ ภิกฺขเว อญฺญํ เอกธมฺมํปิ สมนุปสฺสามิ ยํ เอวํ มหาสาวชฺชํ ยถยิทํ ภิกฺขเว มิจฺฉาทิฏฺฐิ, มิจฺฉาทิฏฺฐิปรมานิ ภิกฺขเว วชฺชานีติ.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่นแม้ข้อหนึ่งซึ่งจะมีโทษมากเหมือนมิจฉาทิฏฐินี้เลย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โทษทั้งหลายมีมิจฉาทิฏฐิเป็นอย่างยิ่ง*
อังฺคุตรนิกาย เอกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม ๒๐ ข้อ ๑๙๓
ปปัญจสูทนี ภาค ๓ อุปาลิวาทสุตฺตวณฺณนา หน้า ๖๓
*มิจฉาทิฏฐิเป็นโทษอย่างยิ่ง
………………………….
มิจฉาทิฏฐิ (พจนานุกรมสะกด มิจฉาทิฐิ ตัด ฏ ปฏักออก) แปลว่าเห็นผิด หมายถึงเห็นผิดจากความเป็นจริง เช่นความจริง “ดำ” แต่กลับเห็นเป็น “ขาว”
ปัญหาที่เถียงกันไม่จบก็คือ จะเอาอะไรมาตัดสินว่าอะไรจริงอะไรไม่จริง จริงของฉันก็จริงของฉัน จริงของคุณก็จริงของคุณ อาจเป็นคนละจริงกัน แต่ก็จริงทั้งคู่
หลักความจริงก็คือ “จริง” ต้องมีสิ่งเดียว หมายความว่า ถ้ามองแง่นั้น มุมนั้น ประเด็นนั้น เพื่อหาความจริง จะต้องพบ “จริง” ตรงกัน พบต่างกันแล้วอ้างว่าจริงทั้งคู่ไม่ได้
เช่นคนคนเดียวกัน – นี่คือ “จริง” คือเป็นคนคนนั้นจริง
ณ เวลาเดียวกัน มีคน ๒ คนอ้างว่าเจอคนคนนั้น แต่อยู่ต่างสถานที่กัน แล้วยืนยันว่าคนที่เขาเจอ ณ เวลานั้น “เป็นคนคนนั้นจริง”
แน่นอนว่า ต้องมีคนหนึ่งที่ “ไม่จริง”
เพราะคนคนนั้นมีคนเดียว และคนคนเดียว-ตามสภาพปกติธรรมดาธรรมชาติ-จะอยู่ต่างสถานที่กันในเวลาเดียวกันไม่ได้
ที่ว่า “จริง” ต้องมีสิ่งเดียว – มีความหมายตามนัยนี้
คำว่า “เห็นผิดจากความเป็นจริง” – มีความหมายตามนัยนี้
เมื่อเข้าใจตามนัยนี้ ก็ไม่มีปัญหาที่จะต้องเถียงกันว่า จะเอาอะไรมาตัดสินว่าอะไรจริงอะไรไม่จริง เพราะ “ความจริง” มันมีของมันอยู่แล้ว ไม่ต้องมีใครมาตัดสินว่าที่มีอยู่นั้นมันจริงหรือเปล่า หน้าที่ของเราก็คือมองมันและเข้าใจมันให้ตรงกับความเป็นจริงที่มันเป็นอยู่
อันที่จริงมีตัวอย่างง่ายๆ เช่น คนเราแก่มาแล้วตั้งแต่เกิด
แต่คนส่วนมากมองไม่เห็น นั่นคือ-เห็นผิดจากความเป็นจริง
“แก่” คือความเปลี่ยนแปลงของรูปธรรม นี่คือคำจำกัดความที่ถูกต้องตามความเป็นจริง
ไม่ใช่เฉพาะ-เปลี่ยนจากผิวหนังเต่งตึงเป็นผิวหนังเหี่ยวย่นจึงจะเรียกว่า “แก่” ตามที่คนส่วนมากรู้สึกเช่นนั้น
เปลี่ยนจากก้อนเลือดเป็นตัวคน นั่นก็แก่
เปลี่ยนจากเด็กแบเบาะเป็นเด็กน้อย นั่นก็แก่
เปลี่ยนจากเด็กน้อยเป็นหนุ่มสาว นั่นก็แก่
เห็น+เข้าใจอย่างนี้คือ เห็นถูกต้องตามความเป็นจริง
ไม่ใช่เฉพาะเรื่องแก่ แต่มีเรื่องอื่นๆ อีกเป็นอเนกอนันต์ที่คนเรามักเห็นผิดจากความเป็นจริง ซึ่งนั่นก็คือ-ที่ท่านเรียกว่า “มิจฉาทิฏฐิ”
ยังมีความเห็นผิดที่ซ้อนอยู่ในความเห็นผิดนั่นเองอยู่อีก นั่นคือความเห็นผิดว่าตนมิได้มีความเห็นผิด คือทั้งๆ ที่ตนเห็นผิดอยู่แท้ๆ ก็ยังเชื่อมั่นว่าตนมิได้เห็นผิด
อย่างนี้ท่านเรียกว่า “นิยตมิจฉาทิฏฐิ” แปลตามศัพท์ว่า “ความเห็นผิดเที่ยงแท้” บางท่านแปลว่า “ความเห็นผิดชนิดดิ่ง” คือชนิดที่แก้ไขไม่ได้
คงพอเทียบได้กับคำที่เราพูดกันว่า “นั่นแหละคือตัวตนของเขา” หรือ “นิสัยของเขาเป็นอย่างนั้น” หรือ “เขาเป็นคนอย่างนั้นแหละ ใครอย่าไปพูดเสียให้ยากเลย”
ใช้คำไทยหยาบๆ ให้กระทบใจเล่นก็ว่า-สันดานเป็นอย่างนั้นเอง
…………………
ปัญหาหนึ่งที่น่าจะนำมาขบคิดกันให้จงหนักก็คือ เกิดมาเป็นคนและมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ อะไรคือสาระของชีวิต
แนวคิดก็จะเข้าทำนองเดียวกับที่กล่าวมาข้างต้น นั่นคือ สาระของฉันก็สาระของฉัน สาระของคุณก็สาระของคุณ อาจเป็นคนละสาระกัน แต่ก็เป็นสาระทั้งคู่ สาระใครสาระมัน ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน
เกณฑ์การตัดสินก็จะเป็นทำนองเดียวกันกับ “ความจริง” นั่นแหละ คือถ้าสิ่งนั้นเป็น “สาระจริง” ก็จะต้องตรงกัน ถ้าไม่ตรงกัน ก็แปลว่าไม่ใครก็ใครกำลังไปคว้าเอาสิ่งที่ไม่ใช่สาระจริงมายึดถือว่าเป็นสาระจริงเข้าแล้ว
…………………
ผมคิดมาถึงตรงนี้ก็หยุดคิด
ความคิดต่อจากนี้ควรจะเป็นอย่างไร หรือว่าเรื่องนี้ควรจบอย่างไรดี ผมคาดว่าแต่ละคนควรจะหาทาง “จบ” เอาเองได้
แต่ละคนอาจจบไม่เหมือนกัน แต่จบที่ไม่เหมือนกันของแต่ละคนนั่นเองอาจทำให้ได้คำตอบตรงกันว่า “มิจฉาทิฏฐิ” หมายความว่าอย่างไร
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๔
๑๑:๑๙