บาลีวันละคำ

กัณฑ์เทศน์ (บาลีวันละคำ 1,444)

กัณฑ์เทศน์

อ่านว่า กัน-เทด

ประกอบด้วย กัณฑ์ + เทศน์

(๑) “กัณฑ์

บาลีเป็น “กณฺฑ” (กัน-ดะ) รากศัพท์มาจาก กฑิ (ธาตุ = ตัด, ทำลาย) + ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ -(ฑิ) แล้วแปลงเป็น ณฺ (กฑิ > กํฑิ > กณฺฑิ), ลบ และลบสระหน้า คือ อิ ที่ กฑิ (กฑิ > กฑ)

: กฑิ > กํฑิ > กณฺฑิ + = กณฺฑิก > กณฺฑก > กณฺฑ แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนที่ถูกตัด

กณฺฑ” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –

(1) ปล้องไม้หรือปล้องอ้อย, ปล้องไม้ไผ่หรือปล้องหญ้า; ก้านลูกศร, ลูกศร (the portion of a stalk or cane between one knot and another; the whole stalk or shaft; the shaft of an arrow, an arrow in general)

(2) ส่วน, ตอนหรือย่อหน้าของหนังสือ (a section, portion or paragraph of a book)

(3) ส่วนเล็กๆ, ชิ้นหรือก้อน (a small portion, a bit or lump)

(4) ส่วนหนึ่งของเวลา, สักประเดี๋ยว, ชั่วครู่, สักครู่ (a portion of time, for a while, a little)

ในที่นี้ “กณฺฑ” มีความหมายตามข้อ (2)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กัณฑ์ : (คำนาม) ข้อความที่แต่งเป็นคำเทศน์เรื่องหนึ่ง ๆ ที่จบลงคราวหนึ่ง ๆ, ตอนหนึ่ง ๆ ของคำเทศน์ที่เป็นเรื่องยาว เช่น มหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์ทศพร กัณฑ์หิมพานต์, ลักษณนามของเทศน์ เช่น เทศน์กัณฑ์หนึ่ง เทศน์ ๒ กัณฑ์; เรื่องหรือหมวด, ตอน, ส่วนของเรื่อง, เช่น วานรกัณฑ์. (ป.; ส. กฤณฺฑ).”

(๒) “เทศน์

บาลีเป็น “เทสนา” (เท-สะ-นา) รากศัพท์มาจาก ทิสฺ (ธาตุ = แสดง, ชี้แจง) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แผลง อิ ที่ ทิ-(สฺ) เป็น เอ (ทิสฺ > เทส) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: ทิสฺ + ยุ > อน = ทิสน > เทสน + อา = เทสนา แปลตามศัพท์ว่า “วาจาเป็นเครื่องแสดงเนื้อความ

เทสนา” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –

(1) การเทศน์, การสั่งสอน, บทเรียน (discourse, instruction, lesson)

(2) การสั่งสอนธรรม, การแสดงธรรม, การเทศน์, คำเทศน์หรือสั่งสอน (moral instruction, exposition of the Dhamma, preaching, sermon)

(3) การยอมรับที่ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ (legal acknowledgment)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เทศน์, เทศนา : (คำนาม) การแสดงธรรมสั่งสอนในทางศาสนา. (คำกริยา) แสดงธรรม เช่น พระเทศน์, (ภาษาปาก) โดยปริยายหมายความว่า ดุด่าว่ากล่าวอย่างยืดยาว เช่น วันนี้ถูกเทศน์เสียหลายกัณฑ์. (ป. เทสนา).”

กัณฑ์ + เทศน์ = กัณฑ์เทศน์ แปลตามตัวว่า ตอนหนึ่งของคำเทศน์ หรือคำเทศน์เฉพาะตอนหนึ่งๆ

แต่ในภาษาไทย คำว่า “กัณฑ์เทศน์” เป็นการเอาคำบาลีมาผสมกันแบบคำไทยและเกิดเป็นความหมายใหม่

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กัณฑ์เทศน์ : (คำนาม) สิ่งของหรือไทยธรรมสำหรับถวายพระภิกษุสามเณรผู้แสดงพระธรรมเทศนา, เครื่องกัณฑ์ ก็ว่า; เรียกการเอาเงินติดต้นเทียนบูชากัณฑ์เทศน์หรือเรียกการเอาเงินหรือสิ่งของบูชาธรรมเนื่องในการเทศน์ ว่า ติดกัณฑ์เทศน์.”

: ขวานถากด้ามตัวเองไม่ได้

: จะสั่งสอนใครอย่าลืมสอนตัวเอง

15-5-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย