บาลีวันละคำ

ทำแท้ง (บาลีวันละคำ 2,663)

ทำแท้ง

ภาษาไทย “ทำแท้ง” ภาษาบาลีว่าอย่างไร?

“ทำแท้ง” ถ้าเป็นคำกริยา (ปฐมบุรุษ เอกพจน์ ปัจจุบันกาล) บาลีว่า “คพฺภํ ปาเตติ” (คับ-พัง ปา-เต-ติ) แปลว่า “ยังครรภ์ให้ตกไป

ถ้าเป็นคำนาม บาลีว่า “คพฺภปาตน” (คับ-พะ-ปา-ตะ-นะ) แปลว่า “การยังครรภ์ให้ตกไป” ประกอบด้วยคำว่า คพฺภ + ปาตน

(๑) “คพฺภ” (คับ-พะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) คสฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อภ ปัจจัย, แปลง สฺ เป็น พฺ (คสฺ > คพฺ)

: คสฺ + อภ = คสภ > คพฺภ แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนที่เป็นไปปกติ” (คือมีทั่วไป)

(2) คุ (เสียงดังโครกคราก) + อภ ปัจจัย, ซ้อน พฺ ระหว่างบทหน้ากับปัจจัย (คุ + พฺ + อภ), “ลบสระหน้า” คือ อุ ที่ คุ (คุ > )

: คุ + พฺ + อภ = คุพฺภ > คพฺภ แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะที่ส่งเสียงดังโครกๆ

(3) คพฺภฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + ปัจจัย

: คพฺภฺ + = คพฺภ แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะที่ทรงไว้” (คือรองรับเด็กไว้)

(4) ครฺ (ธาตุ = ไหลไป) + ปัจจัย, แปลง รฺ เป็น พฺ (ครฺ > คพ)

: ครฺ + = ครฺภ > คพฺภ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ไหลออกไปข้างนอก

คพฺภ” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ภายใน, โพรง (interior, cavity) = ภายในของสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่กลวงหรือว่าง

(2) ห้องใน, ห้องส่วนตัว, ห้องนอน, กุฏิ (an inner room, private chamber, bedroom , cell) = ห้อง

(3) ความพองขึ้นของมดลูก (ตั้งท้อง), ครรภ์ (the swelling of the (pregnant) womb, the womb) = ตั้งท้อง

(4) สิ่งที่อยู่ในมดลูก, ไข่ที่กลายเป็นตัวอ่อน, ลูกอ่อนในครรภ์ (the contents of the womb, the embryo, foetus) = ลูกในท้อง

(๒) “ปาตน” (ปา-ตะ-นะ) รากศัพท์มาจาก ปตฺ (ธาตุ = ตก, ตกลงเบื้องล่าง) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), “ทีฆะต้นธาตุ” คือ อะ ที่ -(ตฺ) เป็น อา (ปตฺ > ปาต)

: ปตฺ + ยุ > อน = ปตน > ปาตน แปลตามศัพท์ว่า “การยัง-ให้ตกไป” หมายถึง การทำให้ตกไป, การทำลาย, การฆ่า (bringing to fall, destroying, killing)

คำที่คู่กับ “ปาตน” คือ “ปตน” (ปะ-ตะ-นะ) มาจากธาตุตัวเดียวกัน แปลตามศัพท์ว่า “การตก” หมายถึง การตก, การล้มทับ, ความหายนะ, การทำลาย (falling, falling out, ruin, destruction)

ความต่างกันระหว่าง 2 คำนี้ คือ –

ปตน” = ตกเอง (falling, falling out)

ปาตน” = ถูกทำให้ตก (bringing to fall)

คพฺภ + ปาตน = คพฺภปาตน แปลว่า “การยังครรภ์ให้ตกไป” หมายถึง การตกไปแห่งครรภ์, การรีดลูก, การแท้งลูก (the destruction of the embryo, destroying the foetus, abortion, an abortive preparation)

อาบัติปาราชิกมี 4 ข้อ ที่ภิกษุล่วงละเมิดย่อมทำให้ขาดจากความเป็นภิกษุ ข้อที่ 3 ว่า “ภิกษุฆ่ามนุษย์ ต้องอาบัติปาราชิก” พระวินัยกำหนดไว้ว่า-หมายรวมเอา “คพฺภปาตน” คือการทำแท้งด้วย (อนฺตมโส  คพฺภปาตนํ  อุปาทาย)

เช่น ภิกษุปรุงยาให้สตรีมีครรภ์กินด้วยเจตนาจะให้แท้งลูก ถ้าครรภ์แท้งเพราะยานั้น ภิกษุต้องอาบัติปาราชิกฐานฆ่ามนุษย์

…………..

คำว่า “ทำแท้ง” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

ทำแท้ง : (คำกริยา) รีดลูก, มีเจตนาทําให้ทารกออกจากครรภ์มารดาก่อนกําหนดและตาย.”

คำว่า “รีดลูก” พจนานุกรมฯ บอกความหมายว่า “ทําให้แท้งลูก”

คำว่า “แท้ง” พจนานุกรมฯ บอกไว้ว่า –

แท้ง : (คำกริยา) สิ้นสุดการตั้งครรภ์ก่อนกําหนดคลอด โดยที่ลูกในท้องไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้.”

อภิปราย :

เวลานี้การให้ความหมายของคำและการสะกดคำในภาษาไทยมีแนวโน้มว่าจะเกิดปัญหาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กล่าวคือ

– คำที่ใช้ในความหมายอย่างหนึ่ง คนสมัยนี้พอใจที่จะใช้ในความหมายอีกอย่างหนึ่ง (ไม่รับรู้ว่าคำเดิมเขาใช้ในความหมายอย่างไร)

– คำที่กำหนดให้สะกดอย่างนี้ คนสมัยนี้พอใจที่จะสะกดเป็นอีกอย่างหนึ่ง (ไม่รับรู้ว่าคำเดิมเขาสะกดกันมาอย่างไร)

ประการแรก ก็อย่างเช่นคำว่า “จำวัด” ที่หมายถึงพระภิกษุสามเณรนอนหลับ (sleep) คนสมัยนี้-โดยเฉพาะสื่อมวลชน-พอใจที่จะใช้ในความหมายว่า พระภิกษุสามเณรพักอยู่ที่วัด (stay) เพราะคิดเอาเองว่า “จำ” คืออยู่ประจำ “จำวัด” คืออยู่ประจำที่วัด โดยไม่ยอมศึกษาหาความรู้ว่าคำนี้มีความหมายว่าอย่างไร แต่ใช้วิธีคิดความหมายเอาเอง

เรื่องนี้ ผู้เขียนบาลีวันละคำทักท้วงจนหลายท่านบอกว่า รำคาญแล้ว พอทีเถอะ

ประการหลัง วันนี้ผู้เขียนบาลีวันละคำอ่านโพสต์ของญาติมิตรท่านหนึ่ง ท่านไปเห็นคำที่มีผู้สะกดว่า “ทำแทงก์” (ดูภาพประกอบ) ซึ่งคำที่ถูกต้องคือ “ทำแท้ง” จึงถามขึ้นว่า “ทำแทงก์” นี่มันคืออะไร

ถ้าคนเขียนคำนั้นไม่รู้จริงๆ ก็น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งว่า เดี๋ยวนี้คนไทยไม่รู้ภาษาไทยกันถึงขนาดนี้แล้วหรือ

ถ้ารู้ แต่มีเจตนาจะเขียนให้แปลกออกไป-แบบคิดนอกกรอบ ก็นับว่าวิปริต

ปัญหาเรื่องใช้ภาษาผิดๆ ทำนองนี้ สมัยนี้มักมีผู้ออกรับแทนว่า ภาษาเป็นเรื่องสมมุติ จะมายึดติดอะไรกันนักหนา สังคมไหนเขาสมมุติกันอย่างไรแล้วเขาเข้าใจกันได้ เท่านั้นก็พอแล้ว ไม่ควรจะต้องไปเกณฑ์ให้เขียนอย่างนั้น ให้ใช้ในความหมายอย่างนี้ แล้วก็เพราะไปตั้งกฎเกณฑ์อย่างนั้นอย่างนี้นั่นเองจึงทำให้เกิดปัญหา ที่ไหนมีกฎเกณฑ์ ที่นั่นก็ต้องมีการละเมิดกฎเกณฑ์เป็นธรรมดา ถ้าไม่อยากให้มีปัญหาก็ไม่ควรตั้งกฎเกณฑ์ให้ยุ่งยาก

ญาติมิตรเห็นเป็นประการไร?

เรื่อง “สมมุติ” นี้มีผู้นิยมยกขึ้นมาอ้างกันมากเพื่อที่จะทำอะไรได้ตามใจชอบ

เราคงจะไม่ลืมว่า หลักความจริงของโลกมี 2 อย่างคือ –

(1) สมมติสัจจะ จริงตามที่สมมุติ (จริงเล่นๆ)

(2) ปรมัตถสัจจะ จริงตามที่มันเป็นเช่นนั้น (จริงจริงๆ)

เป็นอันยืนยันว่า แม้ว่าภาษาจะเป็นเรื่องสมมุติ แต่ก็เป็นความจริงชนิดหนึ่ง ควรที่จะต้องทำให้จริงตามที่สมมุติ คือทำให้ถูกจริง ดีจริง งามจริง ไม่ใช่ว่าสิ่งที่เป็นเรื่องสมมุตินั้นเราจะสามารถทำอะไรๆ ได้ตามใจชอบไปหมดทุกอย่าง

หนังละครก็เป็นเรื่องสมมุติ แต่ถ้าแสดงไม่ดีจริงไม่สมจริง จะเรียกว่าเป็นหนังดีละครดีไม่ได้เลย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: การสะกดถูกหรือผิด

ไม่ใช่บอกเพียงว่าใครเป็นบัณฑิตจากห้องสอบ

: แต่ยังเป็นคำตอบ

ว่าใครมีความรับผิดชอบหรือเป็นคนชุ่ยๆ

#บาลีวันละคำ (2,663)

27-9-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย