ธมฺมชโย (บาลีวันละคำ 1,451)
ธมฺมชโย
อ่านว่า ทำ-มะ-ชะ-โย
ประกอบด้วย ธมฺม + ชโย
(๑) “ธมฺม” (ทำ-มะ)
รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ธ) และ ร ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)
: ธรฺ > ธ + รมฺม > มฺม : ธ + มฺม = ธมฺม แปลตามศัพท์ว่า “สภาพที่ทรงไว้”
พจนานุกรมบาลี-ไทย สำหรับนักศึกษา ฉบับ BUDSIR 7 for Windows บอกความหมายของ “ธมฺม” ไว้ดังนี้ –
(1) สภาพที่ทรงไว้, ธรรมดา, ธรรมชาติ, สภาวธรรม, สัจธรรม, ความจริง;
(2) เหตุ, ต้นเหตุ;
(3) สิ่ง, ปรากฏการณ์, ธรรมารมณ์, สิ่งที่ใจคิด;
(4) คุณธรรม, ความดี, ความถูกต้อง, ความประพฤติชอบ;
(5) หลักการ, แบบแผน, ธรรมเนียม, หน้าที่;
(6) ความชอบ, ความยุติธรรม;
(7) พระธรรม, คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งแสดงธรรมให้เปิดเผยปรากฏขึ้น.
“ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” ภาษาไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม” และใช้ทับศัพท์จนเข้าใจกันโดยไม่ต้องแปล
(๒) “ชโย” (ชะ-โย)
ศัพท์เดิมเป็น “ชย” (ชะ-ยะ) รากศัพท์มาจาก ชิ (ธาตุ = ชนะ) + อ ปัจจัย, แปลง อิ ที่ ชิ เป็น เอ แล้วแปลง เอ เป็น อย (ชิ > เช > ชย)
: ชิ > เช > ชย + อ = ชย แปลตามศัพท์ว่า “ความชนะ” หมายถึง การปราบ, การพิชิต, ชัยชนะ (vanquishing, overcoming, victory)
“ชย” คือที่ในภาษาไทยใช้ว่า “ชัย”
ธมฺม + ชโย = ธมฺมชโย
อธิบาย :
๑ “ธมฺมชโย” เป็นภาษาบาลีที่ใช้เป็น “ฉายา” ของพระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ซึ่งกำลังเป็นข่าวในความสนใจของประชาชนอยู่ในขณะนี้
๒ “ฉายา” เป็นชื่อภาษาบาลีของผู้ที่จะบวชเป็นภิกษุ เนื่องจากในพิธีอุปสมบทจะต้องสวดกรรมวาจาเป็นภาษาบาลี และในกรรมวาจานั้นต้องระบุชื่อผู้ที่จะบวช ดังนั้นจึงจำเป็นต้องตั้งชื่อผู้ที่จะบวชเป็นภาษาบาลี
๓ การตั้งฉายาเป็นหน้าที่ของพระอุปัชฌาย์ อาจใช้คำบางคำในชื่อไทยแปลงเป็นบาลีให้มีความหมายตรงกันหรือคล้ายกัน หรือคิดชื่อขึ้นใหม่ตามคุณลักษณะหรือคุณสมบัติเด่นของผู้ที่จะบวชก็ได้
๔ ฉายาของพระมักลงท้ายด้วยสระ “โอ” (แต่ไม่เสมอไป) ทั้งนี้เนื่องจากศัพท์เดิมของคำนั้นๆ มักเป็น “อะ การันต์” คือคำที่ลงท้ายด้วยเสียง-อะ เช่น ธมฺมชโย ศัพท์เดิมคือ “ธมฺมชย” (ทำ-มะ-ชะ-ยะ) เมื่อแจกรูปตามกฎไวยากรณ์ ลง “สิ” ปฐมาวิภัตติ มีสูตรว่า “เอา อะ กับ สิ เป็น โอ” คือ เสียง “อะ” พยางค์ท้าย + สิ = โอ
: ธมฺมชย + สิ ( —ย-[ะ] + สิ = โอ) : ธมฺมชย + โอ = ธมฺมชโย
๕ “ธมฺมชโย” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีธรรมเป็นเหตุให้ชนะ” หรือ “ผู้มีชัยชนะโดยธรรม”
: อยากมีชัย ทำใจให้มีธรรม
22-5-59