บาลีวันละคำ

เอกสิทธิ์ (บาลีวันละคำ 1,452)

เอกสิทธิ์

อ่านว่า เอก-กะ-สิด

ประกอบด้วย เอก + สิทธิ์

(๑) “เอก

บาลีอ่านว่า เอ-กะ รากศัพท์มาจาก อิ (ธาตุ = ไป, เป็นไป, ตั้งอยู่) + ณฺวุ ปัจจัย, แผลง อิ เป็น เอ, แปลง ณฺวุ เป็น อก

: อิ > เอ + ณฺวุ = เอณฺวุ > เอก แปลตามศัพท์ว่า (1) “ไปตามลำพัง” (คือไม่มีเพื่อนไปด้วย) (2) “ดำรงอยู่ในความเป็นหนึ่งเดียวเพราะไร้ผู้เหมือนกัน

เอก” หมายถึง “หนึ่ง” ใช้ใน 2 สถานะ คือ :

(1) เป็นสังขยา (คำบอกจำนวน) เช่น “ชายหนึ่งคน” เน้นที่จำนวน 1 คน = มุ่งจะกล่าวว่าชายที่เอ่ยถึงนี้มีเพียง “หนึ่งคน”

(2) เป็นคุณศัพท์ เช่น “ชายคนหนึ่ง” ไม่เน้นที่จำนวน = มุ่งจะกล่าวถึงชายคนใดคนหนึ่งเท่านั้น

(๒) “สิทธิ์

บาลีเขียน “สิทฺธิ” (มีจุดใต้ ทฺ, อ่านว่า สิด-ทิ) รากศัพท์มาจาก –

(1) สิธฺ (ธาตุ = สำเร็จ) + ติ ปัจจัย, แปลง ติ เป็น ทฺธิ, ลบ ธฺ ที่สุดธาตุ (สิธฺ > สิ)

: สิธฺ > สิ + ติ > ทฺธิ : สิ + ทฺธิ = สิทฺธิ แปลตามศัพท์ว่า “ความสำเร็จ

(2) (ตัดมาจาก “สห” = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + อิทฺธิ

๑) “อิทฺธิ” รากศัพท์มาจาก อิธฺ (ธาตุ = เจริญ) + อิ ปัจจัย, ซ้อน ทฺ หลัง อิ ต้นธาตุ (อิธฺ > อิทฺธ)

: อิธฺ > (อิ + ทฺ) อิทฺธ + อิ = อิทฺธิ แปลตามศัพท์ว่า “เหตุเป็นเครื่องเจริญ” หมายถึง ความสำเร็จ, ความเจริญ (ดูเพิ่มเติมที่ “อิทธิฤทธิ์” บาลีวันละคำ (1,294) 14-12-58)

๒) + อิทฺธิ = สิทฺธิ แปลตามศัพท์ว่า “เหตุเป็นไปพร้อมกับความสำเร็จ

สิทฺธิ” นักเรียนบาลีแปลกันว่า ความสำเร็จ

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สิทธิ : (คำนาม) อำนาจอันชอบธรรม เช่น บุคคลมีสิทธิและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ เขามีสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้; (คำที่ใช้ในกฎหมาย) อํานาจที่จะกระทําการใด ๆ ได้อย่างอิสระ โดยได้รับการรับรองจากกฎหมาย (อ. right)”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สิทฺธิ” เป็นอังกฤษว่า accomplishment, success, prosperity (การกระทำสำเร็จ, ความสำเร็จ, ความรุ่งเรือง)

เอก + สิทฺธิ = เอกสิทฺธิ > เอกสิทธิ์ แปลตามศัพท์ว่า “สิทธิเพื่อบุคคลผู้เดียว

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เอกสิทธิ์ : (คำนาม) สิทธิพิเศษที่ให้แก่บุคคลโดยเฉพาะ. (อ.) privilege.”

เอกสิทธิ์” เป็นคำที่บัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า privilege

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล privilege เป็นบาลีว่า –

(1) visesādhikāra วิเสสาธิการ (วิ-เส-สา-ทิ-กา-ระ) = การกระทำให้เป็นพิเศษ

(2) pasāda ปสาท (ปะ-สา-ทะ) = ความเลื่อมใส, ความพอใจ

(3) vara วร (วะ-ระ) = พร, สิ่งพิเศษ, สิ่งที่มอบให้ตามที่ขอ

: ถ้าประพฤตธรรมให้เป็นสุจริต

: ก็ไม่ต้องใช้เอกสิทธิ์ใดๆ

23-5-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย