บาลีวันละคำ

สตางค์ (บาลีวันละคำ 1,473)

สตางค์

อ่านว่า สะ-ตาง

บาลีเป็น “สตงฺค” อ่านว่า สะ-ตัง-คะ

ประกอบด้วย สต + องฺค

(๑) “สต” อ่านว่า สะ-ตะ เป็นศัพท์สังขยา (คำที่ใช้นับจำนวน) แปลว่า หนึ่งร้อย (จำนวน 100) สันสกฤตเป็น “ศต” (บาลี เสือ สันสกฤต ศาลา) เรานิยมเขียนตามรูปสันสกฤตเป็น “ศต” (– ศ ศาลา) เช่นในคำว่า “ศตวรรษ” 100 ปี หรือรอบ 100 ปี (ศต = 100 วรรษ = ปี)

(๒) “องค์” บาลีเป็น “องฺค” (อัง-คะ) รากศัพท์มาจาก องฺค (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป; รู้) + ปัจจัย

: องฺคฺ + = องฺค แปลตามศัพท์ว่า (1) “ร่างที่เดินได้” (2) “เหตุเป็นเครื่องรู้ที่เกิด” (คือทำให้รู้ต้นกำเนิด) (3) “ส่วนอันเขารู้ว่าเป็นส่วนย่อย

องฺค” ในบาลีหมายถึง –

(1) ส่วนของร่างกาย, อวัยวะ (a constituent part of the body, a limb)

(2) ชิ้นส่วน, ส่วนประกอบ (member, part)

(3) องค์ประกอบของทั้งหมด หรือของระบบ หรือส่วนย่อยที่ประกอบเข้าเป็นส่วนใหญ่ (a constituent part of a whole or system or collection)

สต + องฺค = สตงฺค ยืดเสียง อัง ที่ (ส)-ตงฺ-(ค) เป็น –อาง– ทำนองเดียวกับ สพฺพงฺค > สพฺพางฺค > สรฺวางฺค > สรรพางค์ (สัน-ระ-พาง) = องค์ทั้งปวง คือทั่วทั้งตัว

: สตงฺค > สตางฺค > สตางค์ แปลตามศัพท์ว่า “องค์ร้อย” = ส่วน 100, 100 ส่วน, มีส่วนประกอบจำนวน 100 ส่วน, 1 หน่วยประกอบด้วยส่วนย่อยจำนวน 100 หน่วย, หน่วยย่อย 100 หน่วยรวมกันเข้าเป็นหน่วยใหญ่ 1 หน่วย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สตางค์ : (คำนาม) เหรียญกระษาปณ์ปลีกย่อย ๑๐๐ สตางค์ เป็น ๑ บาท, อักษรย่อว่า สต., โดยปริยายหมายถึงเงินที่ใช้สอย เช่น วันนี้ไม่มีสตางค์ติดตัวมาเลย เขาเป็นคนมีสตางค์; ชื่อมาตราชั่งตามวิธีประเพณี สําหรับกําหนดนํ้าหนักเท่ากับเงินหนัก ๐.๑๕ กรัม; (คำโบราณ) มาตราวัดน้ำฝนเท่ากับ ๑ ใน ๑๐ ของทศางค์.”

: สตางค์มิใช่เป็นปัจจัยให้เกิดความสุขเพียงอย่างเดียวโดดๆ

: แม้มหันตทุกข์และมหันตโทษก็เกิดจากสตางค์ได้ด้วยเช่นกัน

16-6-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย