สุนทรโวหาร (บาลีวันละคำ 1,483)
สุนทรโวหาร
อ่านกันทั่วไปว่า สุน-ทอน-โว-หาน
แต่จะอ่านว่า สุน-ทะ-ระ-โว-หาน ก็ได้
จะอ่านว่า สุน-ทอ-ระ-โว-หาน ก็ได้
หรือจะอ่านว่า สุน-ทอน-ระ-โว-หาน ก็ได้เช่นกัน
ประกอบด้วย สุนทร + โวหาร
(๑) “สุนทร”
บาลีเป็น “สุนฺทร” (มีจุดใต้ นฺ อ่านว่า สุน-ทะ-ระ) รากศัพท์มาจาก สุ (คำอุปสรรค = ดี, งาม, ง่าย) + ทรฺ (ธาตุ = เอื้อเฟื้อ) + อ ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ สุ แล้วแปลงเป็น นฺ (สุ > สุํ > สุนฺ)
: สุ > สุํ > สุนฺ + ทรฺ + อ = สุนฺทร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันจิตเอื้อเฟื้อด้วยดี” หมายถึง สวยงาม, ดี, งาม (beautiful, good, nice, well)
“สุนทร” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –
“สุนทร, สุนทร– : (คำวิเศษณ์) งาม, ดี, ไพเราะ, เช่น วรรณคดีเป็นสิ่งสุนทร, มักใช้เข้าสมาสกับคำอื่น เช่น สุนทรพจน์ สุนทรโวหาร. (ป., ส.).”
(๒) “โวหาร”
บาลีอ่านว่า โว-หา-ระ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ, แจ้ง, ต่างๆ) + อว (คำอุปสรรค = ลง) + หรฺ (ธาตุ = นำไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ลบ อิ ที่ วิ (วิ > ว), แปลง อว เป็น โอ, ยืดเสียง อะ ที่ ห-(รฺ) เป็น อา (หรฺ > หาร)
: วิ > ว + อว > โอ : ว + โอ = โว + หรฺ = โวหรฺ + ณ = โวหรณ > โวหร > โวหาร แปลตามศัพท์ว่า (1) “คำอันเขากล่าว” (2) “คำที่ลักใจของเหล่าสัตว์อย่างวิเศษ” (คือดึงดูดใจคนฟังไป) (3) “ภาวะที่พูดทำความขัดแย้ง”
“โวหาร” ในภาษาบาลีมีความหมายดังนี้ –
(1) การค้า, ธุรกิจ (trade, business)
(2) ชื่อหรือการเรียกขานที่ใช้กันในเวลานั้น, การใช้ภาษาร่วมกัน, ตรรกวิทยา, วิธีปกติธรรมดาของการนิยาม, วิธีใช้, ตำแหน่ง, ฉายา (current appellation, common use, popular logic, common way of defining, usage, designation, term, cognomen)
(3) คดีความ, กฎหมาย, พันธะทางกฎหมาย; วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับคดีความ, วิชาธรรมศาสตร์ (lawsuit, law, lawful obligation; juridical practice, jurisprudence)
“โวหาร” ในภาษาไทย พจน.54 บอกความหมายไว้ว่า –
“ชั้นเชิงหรือสํานวนแต่งหนังสือหรือพูด เช่น มีโวหารดี, ถ้อยคําที่เล่นเป็นสําบัดสํานวน เช่น อย่ามาตีโวหาร เขาชอบเล่นโวหาร. (ป.).”
สุนทร + โวหาร = สุนทรโวหาร แปลตามศัพท์ว่า “คำพูดที่ไพเราะ” หรือ “คำพูดดี”
ลักษณะของ “สุนทรโวหาร – คำพูดดี” ตามหลักพุทธศาสนา :
๑. กาเลน ภาสิตา = พูดเหมาะแก่เวลา
๒. สจฺจา ภาสิตา = พูดคำจริง
๓. สณฺหา ภาสิตา = พูดคำสุภาพ
๔. อตฺถสญฺหิตา ภาสิตา = พูดมีสารประโยชน์
๕. เมตฺตจิตฺเตน ภาสิตา = พูดด้วยน้ำใจไมตรีจิต
“สุนทรโวหาร” ใช้เป็นคำแสดงลักษณะของบุคคล หมายถึง ผู้มีคำพูดที่ไพเราะ คือมีความสามารถในการใช้ถ้อยคำได้เป็นอย่างดี
“สุนทรโวหาร” เป็นนามบรรดาศักดิ์ของข้าราชการที่ดำรงตำแหน่งอาลักษณ์ในสมัยโบราณ โดยเฉพาะในกรุงรัตนโกสินทร์ อาลักษณ์ที่มีนามบรรดาศักดิ์ “สุนทรโวหาร” ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีที่สุด คือ พระสุนทรโวหาร (ภู่) อาลักษณ์ราชสำนักในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 คนส่วนมากนิยมเรียกนามบรรดาศักดิ์กับนามจริงรวมกันว่า “สุนทรภู่”
“สุนทรภู่” เกิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329
วันที่ 26 มิถุนายน จึงถูกกำหนดให้เป็น “วันสุนทรภู่”
: พูดดีอย่างเดียวยังไม่ดีพอ
: ต้องพูดให้พอดีอีกด้วย
26-6-59