คามวาสี – อรัญวาสี (บาลีวันละคำ 1,491)
คามวาสี – อรัญวาสี
อ่านว่า คา-มะ-วา-สี / อะ-รัน-ยะ-วา-สี
ประกอบด้วย คาม + วาสี / อรัญ + วาสี
(๑) “คาม” (ปุงลิงค์)
บาลีอ่านว่า คา-มะ รากศัพท์มาจาก –
1) คสฺ (ธาตุ = กิน; มัวเมา) + ม ปัจจัย, ลบ สฺ ที่สุดธาตุ, ทีฆะ อะ ที่ ค-(สฺ) เป็น อา (คสฺ > คาส)
: คสฺ + ม = คสม > คม > คาม แปลตามศัพท์ว่า (1) “ที่เป็นที่กินอยู่แห่งชาวบ้าน” (2) “ที่เป็นที่มัวเมาด้วยกามคุณ”
2) คา (ธาตุ = ส่งเสียง) + ม ปัจจัย
: คา + ม = คาม แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ส่งเสียงแห่งชาวบ้าน”
3) คมฺ ธาตุ = ไป, ถึง) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ ค-(มฺ) เป็น อา ตามสูตร “ทีฆะต้นธาตุด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” (คมฺ > คาม)
: คมฺ + ณ = คมณ > คม > คาม แปลตามศัพท์ว่า (1) “ที่เป็นที่ไปแห่งผู้คน” (2) “ที่อันผู้ต้องการวัตถุต่างๆ ต้องไป”
“คาม” หมายถึง หมู่บ้าน, หมู่บ้านเล็กๆ, สถานที่ที่อาศัยอยู่ได้ (a collection of houses, a hamlet, a village, a habitable place)
(๒) “อรัญ”
บาลีเป็น “อรญฺญ” (อะ-รัน-ยะ) (นปุงสกลิงค์) รากศัพท์มาจาก –
1) อรฺ (ธาตุ = ไป) + อญฺญ ปัจจัย
: อรฺ + อญฺญ = อรญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ไปของผู้คน”
2) อรฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ญ ปัจจัย, ซ้อน ญฺ
: อรฺ + ญฺ + ญ = อรญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “ที่ที่ถึงกัน”
3) น (ไม่มี, ไม่ใช่) + ราช (พระราชา), แปลง น เป็น อ, รัสสะ อา ที่ รา-(ช) เป็น อะ (ราช > รช), แปลง ช ที่ (ราช > ) รช เป็น ญฺ (รช > รญ), ซ้อน ญฺ
: น + ราช = นราช > อราช > อรช > อรญ + ญ = อรญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ไม่มีพระราชา”
“อรญฺญ” หมายถึง ป่า (forest)
(๓) “วาสี”
อ่านว่า วา-สี รากศัพท์มาจาก วสฺ (ธาตุ = อยู่, พำนัก) ณี ปัจจัย, ลบ ณ (ณี > อี), ทีฆะ อะ ที่ ว-(สฺ) เป็น อา ตามสูตร “ทีฆะต้นธาตุด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” (วสฺ > วาส)
: วสฺ + ณี = วสณี > (ณี > อี) : วส + อี = วสี > วาสี แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีปกติพำนักอยู่ (ใน-)” หมายถึง ชอบ, อาศัยอยู่ (liking, dwelling [in])
คาม + วาสี = คามวาสี แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีปกติอยู่ในหมู่บ้าน”
อรญฺญ + วาสี = อรญฺญวาสี > อรัญวาสี แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีปกติอยู่ในป่า”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) คามวาสี : (คำนาม) ผู้อยู่ในหมู่บ้าน, ใช้สําหรับเรียกคณะสงฆ์ฝ่ายคันถธุระ, คู่กับ อรัญวาสี คณะสงฆ์ฝ่ายวิปัสสนาธุระ. (ป., ส.).
(2) อรัญวาสี : (คำนาม) ผู้อยู่ในป่า, ใช้สำหรับเรียกคณะสงฆ์ฝ่ายวิปัสสนาธุระ คู่กับ คามวาสี คณะสงฆ์ฝ่ายคันถธุระ. (ป. อรญฺญวาสี).
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ที่คำว่า “คามวาสี” และ “อรัญวาสี” มีคำอธิบายประมวลได้ดังนี้ –
ในพุทธกาล ไม่มีการแบ่งแยกว่า พระบ้าน -พระป่า และคำว่า คามวาสี-อรัญวาสี ก็ไม่มีในพระไตรปิฎก เพราะในสมัยพุทธกาลนั้น พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นศูนย์รวม และมีการจาริกอยู่เสมอ โดยเฉพาะพระพุทธองค์เองทรงนำสงฆ์หมู่ใหญ่จาริกไปในถิ่นแดนทั้งหลายเป็นประจำ ภิกษุทั้งหลายที่ยังไม่จบกิจในพระศาสนา นอกจากเสาะสดับคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ย่อมระลึกอยู่เสมอถึงพระดำรัสเตือนให้เสพเสนาสนะอันสงัดเจริญภาวนา โดยทรงระบุป่าเป็นสถานที่แรกแห่งเสนาสนะอันสงัดนั้น
แม้ว่าต่อมาในอรรถกถา (ก่อน จนถึงใกล้ พ.ศ.๑๐๐๐) จะมีคำว่า คามวาสี และอรัญวาสี เกิดขึ้นแล้ว แต่ก็ใช้เป็นถ้อยคำสามัญ หมายถึงใครก็ได้ ตั้งแต่พระสงฆ์ ไปจนถึงสิงสาราสัตว์ (มักใช้แก่ชาวบ้านทั่วไป) ที่อยู่บ้าน อยู่ใกล้บ้าน หรืออยู่ในป่า มิได้มีความหมายจำเพาะอย่างที่เข้าใจกันในบัดนี้
สันนิษฐานว่า เมื่อเวลาล่วงผ่านห่างพุทธกาลมานาน พระภิกษุอยู่ประจำที่มากขึ้น อีกทั้งมีภาระผูกมัดตัวมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะการเล่าเรียนและทรงจำพุทธพจน์ในยุคที่องค์พระศาสดาปรินิพพานแล้ว ซึ่งจะต้องรักษาไว้แก่คนรุ่นหลังให้ครบถ้วนและแม่นยำโดยมีความเข้าใจถูกต้อง อีกทั้งต้องเก็บรวบรวมคำอธิบายของอาจารย์รุ่นต่อๆ มา ที่มีเพิ่มขึ้นๆ จนเกิดเป็นงานหรือหน้าที่ที่เรียกว่า “คันถธุระ” (ธุระในการเล่าเรียนพระคัมภีร์) เป็นภาระซึ่งทำให้รวมกันอยู่ที่แหล่งการเล่าเรียนศึกษาในชุมชนหรือในเมือง โดยนัยนี้ แนวโน้มที่จะแบ่งเป็นพระบ้าน-พระป่าก็ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ
การแบ่งพระสงฆ์เป็น ๒ ฝ่าย คือ คามวาสี และอรัญวาสี เกิดขึ้นในลังกาทวีป และปรากฏชัดเจนในรัชกาลพระเจ้าปรักกมพาหุ ที่ ๑ มหาราช (พ.ศ. ๑๖๙๖ – ๑๗๒๙) ต่อมา เมื่อพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งอาณาจักรสุโขทัย ทรงรับพระพุทธศาสนาและพระสงฆ์ลังกาวงศ์ อันสืบเนื่องจากสมัยพระเจ้าปรักกมพาหุนี้เข้ามาในช่วงใกล้ พ.ศ.๑๘๒๐ ระบบพระสงฆ์ ๒ แบบ คือ คามวาสี และอรัญวาสี ก็มาจากศรีลังกาเข้าสู่ประเทศไทยด้วย.
: อยากไปสวรรค์ อยู่บ้าน
: อยากไปนิพพาน อยู่ป่า
: อยากมีสุขทุกเวลา อยู่อย่างมีสติ
4-7-59