บาลีวันละคำ

บวกลบคูณหาร (บาลีวันละคำ 795)

เป็นภาษาบาลีหรือเปล่า ?

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) บวก : (คำกริยา) เอาจํานวนหนึ่งรวมเข้ากับอีกจํานวนหนึ่งหรือหลายจํานวนให้เป็นจํานวนเพิ่มขึ้นจํานวนเดียวกัน, เพิ่มเติมเข้าไป.ว. ที่เป็นไปในทางสนับสนุน ทางดี หรือเชิงสร้างสรรค์ เช่น มองในทางบวก; ในทางคณิตศาสตร์เรียกจำนวนเลขที่มีค่ามากกว่าศูนย์ว่า จำนวนบวก. (คำนาม) เรียกเครื่องหมายคณิตศาสตร์รูปดังนี้ + ว่า เครื่องหมายบวก.

(2) ลบ : (คำกริยา) ทำให้หายไปด้วยอาการเช็ดหรือถู, ทำให้หายไป เช่น น้ำลบฝั่ง; หักออก, ชักออก, (ใช้แก่วิธีเลข). (คำวิเศษณ์) ที่เป็นไปในทางร้าย ทางไม่ดี หรือทางทําลาย เช่น มองในทางลบ. (คำนาม) เรียกเครื่องหมายดังนี้ – ว่า เครื่องหมายลบ.

(3) คูณ : (คำกริยา) เพิ่มจํานวนเท่าตัวตามหน่วยที่ต้องการ, เท่า เช่น ทวีคูณ คือ ๒ เท่า ตรีคูณ คือ ๓ เท่า. (คำนาม) เรียกเครื่องหมายดังนี้ x ว่า เครื่องหมายคูณ. (ป., ส. คุณ).

(4) หาร ๑ : (คำกริยา) แบ่งส่วนเท่า ๆ กัน (ใช้แก่วิธีเลข). (คำนาม) เรียกเครื่องหมายรูปดังนี้ ÷ ว่า เครื่องหมายหาร.

จะเห็นว่า ในคำว่า “บวกลบคูณหาร” พจน.54 บอกว่าเป็นคำบาลีเพียงคำเดียว คือ “คูณ” บาลีเป็น “คุณ

คุณ” (บาลีอ่านว่า คุ-นะ) แปลว่า –

(1) คุณภาพ, คุณความดี, ผลประโยชน์, ผลบุญ (quality, good quality, advantage, merit)

(2) ส่วนประกอบขึ้น, ส่วนผสม, สิ่งประกอบ (constituent part, ingredient, component, element)

(3) ใช้กับจำนวน หมายถึง ประการ, ส่วน, เท่า (equals-fold) เช่น “ทิคุณ” = สองเท่า ตรงกับ “ทวีคูณ” ในคำไทย

ความหมายตามข้อ (3) นี้คือ “คูณ” ในคำว่า “บวกลบคูณหาร

ข้อเสนอ :

(1) ในภาษาบาลี มีคำว่า “โลป” (โล-ปะ) แปลว่า การเอาไป, การตัดออก (taking away, cutting off) (ใช้บ่อยในการอธิบายไวยากรณ์ เช่น สรโลโป = ลบสระ, มชฺเฌโลโป = ลบคำตรงกลางออก)

นักศึกษาบาลีเชื่อว่า คำว่า “ลบ” ในภาษาไทยมาจาก “โลป” อย่างแน่นอน

โลป อ่านแบบไทยว่า โลบ ตัดเสียงให้สั้นลงเป็น โล็บ แล้วกลายเป็น “ลบ” ในที่สุด

(2) คำว่า “หาร” รูปเหมือนกับ “หาร” (หา-ระ) ในบาลี

หาร” มักแปลกันว่า สิ่งซึ่งอาจถือเอาได้; การคว้าเอา, การถือเอา (that which may be taken; grasping, taking)

ตามคำแปลนี้ดูจะไม่ใกล้เคียงกับ “หาร” ในภาษาไทย

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “หาร” ไว้อีกคำหนึ่งว่า category

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล category เป็นไทยว่า ลำดับชั้น, แบ่งแยกออกเป็นประเภท ๆ

คำแปลของ พจนานุกรม สอ เสถบุตร อาจจะพอตีความให้ “หาร” หมายถึง แบ่งเป็นส่วนๆ ได้บ้างกระมัง

คงเหลือแต่คำว่า “บวก” ยังไม่พบคำบาลีที่มีรูปและความหมายใกล้เคียง

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปลคำว่า plus (= บวก) เป็นบาลีว่า saṅkalana-lakkhaṇa สงฺกลน-ลกฺขณ (สัง-กะ-ละ-นะ ลัก-ขะ-นะ) แปลว่า “การกำหนดเพิ่มเติมลงไป” ทั้งรูปทั้งเสียงไม่ใกล้เคียงกับ “บวก” แต่ประการใด

: ชีวิตจะขาดทุนหรือได้กำไร

: บวกลบคูณหารเอาไว้ให้ดี ๆ

ทำบาป : ขาดทุน

ทำบุญ : ได้กำไร

———————

(สันนิษฐานตามคำชวนของพระคุณท่าน Sunant Sukantharam – ตั้งแต่ 8 ก.ย.56)

#บาลีวันละคำ (795)

22-7-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *