บาลีวันละคำ

สมานฉันท์ (บาลีวันละคำ 796)

สมานฉันท์

อ่านว่า สะ-มา-นะ-ฉัน ก็ได้ สะ-หฺมาน-นะ-ฉัน ก็ได้

(ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554)

โปรดสังเกต :

(1) จะอ่านว่า สะ-มา หรือ สะ-หฺมาน ก็ต้องตามด้วย –นะ-ฉัน

(2) คำนี้มีผู้อ่านหรือพูดว่า สะ-หฺมาน-ฉัน (ไม่มี -นะ-) อยู่บ่อยๆ เป็นคำอ่านที่ไม่ถูกต้อง

สมานฉันท์” ประกอบด้วยคำว่า สมาน + ฉันท์

บาลีเป็น สมาน + ฉนฺท

สมาน” (สะ-มา-นะ) แปลว่า เหมือนกัน, เสมอกัน, เท่ากัน, อย่างเดียวกัน (similar, equal, even, same)

ฉนฺท” (ฉัน-ทะ) มีความหมาย 3 อย่าง คือ –

(1) ความพอใจ, ความรักใคร่, ความชอบใจ, ความยินดี, ความต้องการ, ความปรารถนา, ความอยาก, ความประสงค์, สิ่งกระตุ้นใจ, แรงดลใจ, ความมีใจรักในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง (impulse, excitement; intention, resolution, will; desire for, wish for, delight in)

(2) ความยินยอม, ความยอมให้ที่ประชุมทำกิจนั้น ๆ ในเมื่อตนมิได้ร่วมอยู่ด้วย (consent, declaration of consent) ความหมายนี้คือที่เราพูดว่า “มอบฉันทะ

(3) เป็นชื่อเรียกข้อความที่แต่งเป็นร้อยกรอง ที่ภาษาไทยพูดว่า “กาพย์กลอนโคลงฉันท์” บาลีไม่ได้เรียกแยกชนิดเหมือนไทย คงเรียกรวมทุกอย่างว่า “ฉนฺท” แต่มีชื่อเฉพาะสำหรับฉันท์แต่ละชนิด เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “คาถา” (verse, poetry)

ในที่นี้ “ฉนฺท” มีความหมายตามข้อ (1)

สมาน + ฉนฺท = สมานจฺฉนฺท (ซ้อน จฺ ระหว่าง –– กับ –ฉนฺ-) อ่านว่า สะ-มา-นัด-ฉัน-ทะ ใช้ในภาษาไทยว่า “สมานฉันท์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สมานฉันท์ : (คำนาม) ความพอใจร่วมกัน, ความเห็นพ้องกัน, เช่น มีความเห็นเป็นสมานฉันท์. (ป. สมาน + ฉนฺท)”

คำว่า “สมานฉันท์” มักมีผู้เข้าใจว่า หมายถึงเคยโกรธเคืองขุ่นข้องหมองใจกันมาก็กลับมาปรองดองคืนดีกันเหมือนเดิม

ความหมายตามรากศัพท์จะเห็นได้ว่า “สมานฉันท์” ไม่ต้องอ้างอิงพาดพิงถึงความโกรธเคืองขุ่นข้องหมองใจกันมาแต่ก่อนเลย

คนไม่ถูกกัน ถ้าเห็นพ้องกันในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ก็เรียกได้ว่ามีสมานฉันท์กัน ทั้งๆ ที่ยังโกรธกันอยู่

เพื่อนกัน ถ้าเห็นต่างกันในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ก็เรียกว่าไม่สมานฉันท์กัน ทั้งๆ ที่ยังรักใคร่กันเป็นปกติ

ส่วนการที่เคยโกรธเคืองขัดแย้งกันมาก่อนแล้วกลับมาปรองดองคืนดีกันเหมือนเดิม ภาษาบาลีใช้คำว่า “สามคฺคี

แต่ในภาษาไทย คำว่า “สามัคคี” หมายถึงความพร้อมเพรียงกัน ร่วมมือร่วมใจกัน โดยไม่จำเป็นว่าจะเคยโกรธเคืองกันมาก่อนหรือไม่

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกความหมายของคำว่า “สมานฉันท์” ไว้น่าสนใจ ขอยกมาเสนอไว้ในที่นี้ ดังนี้ –

สมานฉันท์ : มีฉันทะเสมอกัน, มีความพอใจร่วมกัน, พร้อมใจกัน, มีความต้องการที่จะทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตรงกันหรือเสมอเหมือนกัน ในทางที่ร้ายหรือดีก็ได้, ในทางร้าย เช่น หญิงและชายที่มีสมานฉันท์ในการประกอบกาเมสุมิจฉาจาร และหมู่คนร้ายที่มีสมานฉันท์ในการทำโจรกรรม ส่วนในทางดี เช่น หมู่คนดีมีสมานฉันท์ที่จะไปทำบุญร่วมกัน เช่น ไปจัดปรับถนนหนทาง สร้างสะพาน ขุดสระ ปลูกสวน สร้างศาลาพักร้อน ให้ทาน รักษาศีล เด็กกลุ่มหนึ่งมีสมานฉันท์ที่จะบรรพชา ภิกษุหลายรูปมีสมานฉันท์ที่จะถือปฏิบัติธุดงค์ข้อนั้นข้อนี้, คนผู้มีสมานฉันท์ในทางร้ายนั้นไม่ต้องใช้ปัญญาไตร่ตรองพิจารณา เพียงชอบใจอยากทำก็ประกอบกรรมไปตามอำนาจของราคะ หรือโลภะ โทสะ และโมหะ ส่วนคนที่จะมีสมานฉันท์ในทางดี เบื้องแรกมองเห็นด้วยปัญญาแล้วว่า กรรมนั้นดีงามเป็นประโยชน์มีเหตุผลควรทำ จึงเกิดฉันทะคือความพอใจใฝ่ปรารถนาที่จะทำ โดยเข้าใจตรงกัน และพอใจเหมือนกัน ร่วมด้วยกัน

: อย่าเอาดีแค่สมานฉันท์

: แต่จงสมานฉันท์กันในทางดี

#บาลีวันละคำ (796)

23-7-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *