บาลีวันละคำ

ภาณยักษ์ (บาลีวันละคำ 1,695)

ภาณยักษ์

อ่านตามหลักว่า พา-นะ-ยัก หรือ พาน-นะ-ยัก

อ่านตามสะดวกปากว่า พาน-ยัก

ประกอบด้วย ภาณ + ยักษ์

(๑) “ภาณ

บาลีอ่านว่า พา-นะ รากศัพท์มาจาก ภณฺ (ธาตุ = กล่าว, ส่งเสียง) + ปัจจัย, ลบ , “ทีฆะต้นธาตุด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ” คือ อะ ที่ -(ณฺ) เป็น อา (ภณฺ > ภาณ)

: ภณฺ + = ภณณ > ภณ > ภาณ แปลตามศัพท์ว่า “คำอันเขากล่าว” หมายถึง การท่องหรือสวด (reciting or preaching)

(๒) “ยักษ์

บาลีเป็น “ยกฺข” (ยัก-ขะ) รากศัพท์มาจาก –

1) ยตฺ (ธาตุ = พยายาม) + ปัจจัย, แปลง ตฺ ที่สุดธาตุเป็น กฺ (ยตฺ > ยกฺ)

: ยตฺ + = ยตฺข > ยกฺข แปลตามศัพท์ว่า “ผู้พยายามเพื่อนำมาซึ่งพลีกรรม

2) ยชฺ (ธาตุ = บูชา) + ปัจจัย, แปลง ชฺ ที่สุดธาตุเป็น กฺ (ยชฺ > ยกฺ)

: ยชฺ + = ยชฺข > ยกฺข แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันชาวโลกบูชา

ยกฺข” ในบาลี ความหมายโดยตรงเป็นชื่อของอมนุษย์บางจำพวก, เช่น ผี, ผีปอบ, รากษส, นางไม้, ปีศาจคะนอง (name of certain non-human beings, as spirits, ogres, dryads, ghosts, spooks) แต่ในที่บางแห่งใช้ในความหมายโดยนัย หมายถึง เทวดา, ท้าวสักกะ, พระขีณาสพ

บาลี “ยกฺข” สันสกฤตเป็น “ยกฺษ” เราใช้ตามสันสกฤตเป็น “ยักษ์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ยักษ์ : (คำนาม) อมนุษย์พวกหนึ่ง ถือกันว่ามีรูปร่างใหญ่โตน่ากลัว มีเขี้ยวงอก ใจดําอํามหิต ชอบกินมนุษย์ กินสัตว์ โดยมากมีฤทธิ์เหาะได้จําแลงตัวได้, บางทีใช้ปะปนกับคําว่า อสูร รากษส และมาร ก็มี; เทวดาพวกหนึ่งในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกและชั้นปรนิมมิตวสวัตดี; ชื่อหนึ่งของดาวฤกษ์ศตภิษัช มี ๔ ดวง, ดาวพิมพ์ทอง หรือ ดาวสตะภิสชะ ก็เรียก. (คำวิเศษณ์) โดยปริยายหมายความว่า มีลักษณะหรืออาการอย่างยักษ์ เช่น ใจยักษ์ หน้ายักษ์, มีลักษณะใหญ่เป็นพิเศษในพวก เช่น ปลาหมึกยักษ์. (ส. ยกฺษ ว่า อมนุษย์พวกหนึ่ง บริวารท้าวเวสวัณ; ป. ยกฺข).”

ภาณ + ยกฺข = ภาณยกฺข > ภาณยักษ์ แปลตามศัพท์ว่า “คำกล่าวของยักษ์

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของคำว่า “ภาณยักษ์” ไว้ว่า –

บทสวดของยักษ์, คำบอกของยักษ์, สวดหรือบอกแบบยักษ์;

เป็นคำที่คนไทยเรียกอาฏานาฏิยสูตร ที่นำมาใช้เป็นบทสวดมนต์ในจำพวกพระปริตร (เป็นพระสูตรขนาดยาวสูตรหนึ่ง นิยมคัดตัดมาเฉพาะตอนที่มีสาระเกี่ยวกับความคุ้มครองป้องกันโดยตรง และเรียกส่วนที่ตัดตอนมาใช้นั้นว่า อาฏานาฏิยปริตร)

……….

และอธิบายความเป็นมาของ “ภาณยักษ์” ไว้ดังนี้ –

……….

การที่นิยมเรียกชื่อพระสูตรนี้ให้ง่ายว่า “ภาณยักษ์” นั้น เนื่องจากพระสูตรนี้มีเนื้อหาซึ่งเป็นคำกล่าวของยักษ์ คือท้าวเวสสวัณ ที่มากราบทูลถวายคำประพันธ์ของพวกตน ที่เรียกว่า “อาฏานาฏิยา รกฺขา” (อาฏานาฏิยรักขา หรือ อาฏานาฏิยารักข์) แด่พระพุทธเจ้า ดังมีความเป็นมาโดยย่อว่า

ยามดึกราตรีหนึ่ง ท้าวมหาราชสี่ (จาตุมหาราช หรือจตุโลกบาล) พร้อมด้วยบริวารจำนวนมาก ได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้า ครั้นแล้ว ท้าวเวสสวัณ ในนามของผู้มาเฝ้าทั้งหมด ได้กราบทูลว่า พวกยักษ์ส่วนมากยังทำปาณาติบาต ตลอดจนดื่มสุราเมรัย เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนให้งดเว้นกรรมชั่วเหล่านั้น จึงไม่ชอบใจไม่เลื่อมใส ท้าวมหาราชทรงห่วงใยว่า มีพระสาวกที่ไปอยู่ในป่าดงเงียบห่างไกลอันเปลี่ยวน่ากลัว จึงขอถวายคาถา “อาฏานาฏิยา รกฺขา” ที่ท้าวมหาราชประชุมกันประพันธ์ขึ้น โดยขอให้ทรงรับไว้ เพื่อทำให้ยักษ์พวกนั้นเลื่อมใส เป็นเครื่องคุ้มครองรักษาภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ให้อยู่ผาสุกปลอดจากการถูกเบียดเบียน แล้วท้าวเวสสวัณก็กล่าวคาถาคำอารักขานั้น เริ่มต้นด้วยคำนมัสการพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ มีพระวิปัสสี เป็นต้น ต่อด้วยเรื่องของท้าวมหาราชสี่รายพระองค์ที่พร้อมด้วยโอรสและเหล่าอมนุษย์พากันน้อมวันทาพระพุทธเจ้า คาถาอาฏานาฏิยารักข์นี้ เมื่อเรียนไว้แม่นยำดีแล้ว หากอมนุษย์เช่นยักษ์เป็นต้นตนใดมีใจประทุษร้ายมากล้ำกราย อมนุษย์ตนนั้นก็จะถูกต่อต้านและถูกลงโทษโดยพวกอมนุษย์ทั้งหลาย หากตนใดไม่เชื่อฟัง ก็ถือว่าเป็นขบถต่อท้าวมหาราชสี่นั้น กล่าวแล้วก็พากันกราบทูลลากลับไป

ครั้นผ่านราตรีนั้นไปแล้ว พระพุทธเจ้าได้ตรัสเล่าเรื่องทั้งหมดแก่ภิกษุทั้งหลาย ตรัสว่าอาฏานาฏิยารักข์นั้นกอปรด้วยประโยชน์ในการคุ้มครองรักษาดังกล่าวแล้ว และทรงแนะนำให้เรียนไว้

…………..

อภิปราย :

ภาณยักษ์” ที่รู้และเห็นกันในปัจจุบันนี้ได้กลายเป็นพิธีกรรมชนิดหนึ่งไปแล้ว เกิดมีข้อกำหนดเป็นแบบแผนต่างๆ และต้องจัดตามแบบแผนนั้น บางวัดนิยมจัดให้มีพิธีสวดภาณยักษ์เป็นพิธีกรรมใหญ่โต เปล่งเสียงสวดกระโชกโฮกฮากเป็นอย่างเสียงยักษ์ นับถือกันว่าขลังว่าศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ

ยักษ์คงนึกไม่ถึงว่า มนุษย์ที่ได้ชื่อว่าชาวพุทธจะเอาคำประพันธ์ของตนที่กล่าวขึ้นด้วยจิตอันเป็นกุศลมาทำให้เป็นพิธีกรรมแล้วบอกให้กันเชื่อว่าเป็นเรื่องขลังศักดิ์สิทธิ์ ผิดไปจากเจตนารมณ์เดิมได้ถึงเพียงนี้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ปากพระ จำเป็นต้องเป็นปากกล่าวธรรมะ

: แต่ธรรมะไม่จำเป็นต้องออกจากปากพระเสมอไป

————

(ตามคำขอค้างสองปีของ Tawee Thichai)

24-1-60