ยศ (บาลีวันละคำ 797)
ยศ
อ่านว่า ยด
บาลีเป็น “ยส” อ่านว่า ยะ-สะ
“ยส” รากศัพท์มาจาก –
(1) ยชฺ (ธาตุ = บูชา) + อ ปัจจัย, แปลง ช เป็น ส : ยชฺ + อ = ยช > ยส แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องบูชา”
(2) ยา (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ส ปัจจัย, รัสสะ อา ที่ ยา เป็น อ : ยา + ส = ยาส > ยส แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เป็นไปทุกแห่ง” (ยศมีทั่วไปหมดทุกสังคม)
(3) ยสุ (ธาตุ = พยายาม) + อ ปัจจัย, ลบสระ อุ ที่สุดธาตุ (ภาษาไวยากรณ์ว่า “ลบสระหน้า”) : ยสุ + อ = ยสุ > ยส แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเหตุให้เขายกย่องหรือแวดล้อม” ขยายความว่า “มีผู้ยกย่องหรือแวดล้อมด้วยเหตุอันใด ก็พยายามทำเหตุอันนั้น”
“ยส” (ส เสือ) ภาษาไทยเขียนตามสันสกฤตเป็น “ยศ” (ศ ศาลา)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ยศ : (คำนาม) ความยกย่องนับถือเกียรติของตน, เกียรติคุณ, ฐานันดรที่พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง มีสูงต่ำตามลำดับกันไป; เครื่องหมายพิเศษที่พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานแก่ผู้มีฐานันดร มีสูงต่ำตามลำดับกันไป, เครื่องกําหนดหมายฐานะหรือชั้นของบุคคล. (คำวิเศษณ์) ที่แสดงฐานะหรือชั้น เช่น พัดยศ. (ส.; ป. ยส)”
ผู้รู้ท่านขยายความว่า “ยศ” มี 3 ประเภท คือ –
(1) อิสริย (อิด-สะ-ริ-ยะ) แปลว่า ความเป็นผู้ปกครอง, ความเป็นนาย, ความเป็นใหญ่, อำนาจปกครอง (rulership, mastership, supremacy, dominion)
เรียกเป็นศัพท์ว่า “อิสริยยศ” หมายถึง ความเป็นใหญ่ มีตำแหน่งหน้าที่ และมีสิทธิอำนาจที่ควบมากับตำแหน่งหน้าที่นั้น
คำว่า “อิสริยยศ” ในภาษาไทย พจน.54 ให้ความหมายไว้ว่า –
“ยศอันยิ่งใหญ่, ยศที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ หมายถึง สกุลยศของพระราชวงศ์ที่ถือกำเนิดมาว่ามียศทางขัตติยราชสกุลชั้นใด เช่น เจ้าฟ้า พระองค์เจ้า หม่อมเจ้า, ถ้าพระราชวงศ์พระองค์ใดได้ปฏิบัติราชการแผ่นดิน มีความดีความชอบ ก็อาจได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศเป็นเจ้าต่างกรมจึงต่อพระนามกรมไว้ท้ายพระนามเดิม เช่น พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์”
(2) กิตฺติ (กิด-ติ) แปลว่า ชื่อเสียง, เกียรติยศ, ความรุ่งโรจน์, เกียรติ (fame, renown, glory, honour)
เรียกเป็นศัพท์ว่า “เกียรติยศ” หมายถึง ความมีชื่อเสียง เป็นที่สรรเสริญยกย่องนับถือของคนทั่วไป
คำว่า “เกียรติยศ” ในภาษาไทย พจน.54 ให้ความหมายไว้ว่า –
“เกียรติโดยฐานะตําแหน่งหน้าที่หรือชาติชั้นวรรณะ”
(3) ปริวาร (ปะ-ริ-วา-ระ) แปลว่า สิ่งที่แวดล้อม, ผู้ติดตามไปเป็นกลุ่ม, บริวาร, สาวก, ผู้ติดสอยห้อยตาม, กระบวน (surrounding, suite, retinue, followers, entourage, pomp)
เรียกเป็นศัพท์ว่า “บริวารยศ” หมายถึง ความมีพวกพ้องญาติมิตรมาก มีผู้คนคอยเป็นกำลังสนับสนุนมาก
: ยศมีไว้สำหรับเป็นอุปกรณ์ทำความดีให้ยิ่งๆ ขึ้น
: ไม่ใช่สำหรับอวด สำหรับบ้า หรือสำหรับเมา
—————
(ตามคำขอของ นายพระยา ฤทธิภักดี)
#บาลีวันละคำ (797)
24-7-57