บาลีวันละคำ

อาการ (บาลีวันละคำ 1,519)

อาการ

ภาษาไทยอ่านว่า อา-กาน

ภาษาบาลีอ่านว่า อา-กา-ระ

อาการ” รากศัพท์มาจาก อา (ทั่วไป) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ปัจจัย, ลบ , ยืดเสียง อะ ที่ -(รฺ) เป็น อา (กร > การ)

: อา + กรฺ = อากรฺ + = อากรณ > อากร > อาการ แปลตามศัพท์ว่า “การทำทั่วไป” “ผู้ทำทั่วไป

อาการ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ภาวะ, สภาพ (state, condition)

(2) คุณสมบัติ, คุณภาพ, ลักษณะประจำตัว (property, quality, attribute)

(3) ลักษณะ, รูปร่างหน้าตา, รูป (sign, appearance, form)

(4) วิธี, รูปลักษณะ, อาการ (way, mode, manner)

(5) เหตุผล, หลักฐาน, เรื่องราว (reason, ground, account)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “อาการ” ในภาษาสันสกฤตไว้ว่า –

อาการ : (คำนาม) การกล่าวท้วง; ลักษณะ; รูป; a hint; a sign or token; form.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “อาการ” ไว้ว่า –

(1) ความเป็นอยู่, ความเป็นไป, สภาพ, เช่น อาการไข้.

(2) กิริยาท่าทาง เช่น อาการพิรุธ.

(3) ลักษณะเดียวกัน เช่น โดยอาการนั้น.

(4) ส่วนของร่างกายซึ่งนิยมว่ามี 32 อย่าง เรียกว่า อาการ 32 มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น.

อภิปราย :

คำว่า “อาการ 32” คนทั่วไปมักเข้าใจว่าหมายถึงความสมประกอบของร่างกาย คือมีอวัยวะต่างๆ ครบสมบูรณ์ ถ้าแขนด้วนไปข้างหนึ่งก็จะพูดว่า “อาการไม่ครบ 32

อาการ 32” ตามความหมายเดิมในภาษาบาลี หมายถึงส่วนประกอบในร่างกายมนุษย์ที่แยกย่อยออกไป 32 ชนิด (ดูรายละเอียดที่ : “อาการ 32” บาลีวันละคำ (509) 6-10-56)  แขนขาไม่เรียกว่าเป็น “อาการ” แต่เรียกว่า “องค์

– อวัยวะรวม เช่น ตา หู แขน ขา เรียกว่า “องค์

– อวัยวะย่อยหรือส่วนย่อยที่มีอยู่ในร่างกาย เรียกว่า “อาการ

อาการ”บางชนิดอาจมีมากกว่าหนึ่ง เช่น เล็บ ฟัน กระดูก แต่บางชนิดก็มีเพียงหนึ่ง เช่นหัวใจ บางชนิดก็ไม่ใช่อวัยวะ แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามระบบการทำงานของร่างกาย เช่น อุจจาระ ปัสสาวะ

มนุษย์ปกติจะมีส่วนประกอบ 32 ชนิด จึงเรียกว่ามี “อาการ 32”

นอกจากนี้ คำว่า “อาการ” ในภาษาไทยยังใช้ในความหมายแบบ “ละไว้ฐานเขาใจ” คือต้องใช้บริบทหรือเหตุการณ์แวดล้อมเป็นเครื่องบ่งบอกความหมาย เช่น คุณแม่บ่นกับลูกสาวว่า –

ว่านิดว่าหน่อยละก็มีอาการขึ้นมาทันทีเชียว แตะไม่ได้เลยนะ

อาการ” ในที่นี้หมายถึง “ความไม่พอใจ

—————

ดูก่อนภราดา!

เมื่อเกิดอาการไม่พอใจอะไรขึ้นมาสักอย่าง

ท่านพอใจที่จะใช้วิธีการของใคร ?

คนเก่ง : บอกว่าอย่าเกรงที่จะแสดงอาการอย่างองอาจ

คนฉลาด : บอกว่าจงพยายามเก็บอาการ

ผู้มีปรีชาญาณ : บอกว่าจงฝึกรู้ทันความคิดจนกระทั่งจิตไม่เกิดอาการ

————–

(หวังว่าคงจะพอจะตอบอาการสงสัยของ Chanakan Thongthanthum ได้เป็นบางส่วน)

1-8-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย