สันดาน (บาลีวันละคำ 800)
สันดาน
อ่านว่า สันดาน
บาลีเป็น “สนฺตาน” อ่านว่า สัน-ตา-นะ
“สนฺตาน” รากศัพท์มาจาก สํ ( = พร้อม, ดี) + ตนฺ (ธาตุ = แผ่, ขยาย) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลงนิคหิตเป็น นฺ, ทีฆะต้นธาตุ (อ เป็น อา)
: สํ > สนฺ + ตนฺ > ตาน + ณ = สนฺตาน แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่แผ่ขยายเชื้อแถวไปด้วยดี” หมายถึง การแผ่, การแยกกิ่งก้านสาขา (spreading, ramification) การต่อเนื่อง, การสืบลำดับเชื้อสาย; เชื้อสาย (continuity, succession; lineage)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“สนฺตาน : (คำนาม) ‘สันดาน’ วงศ์, ชาติ, กุล; สันตติ; lineage, race, family; progeny”
“สนฺตาน – สันดาน” ตามความหมายเดิมหมายถึง การแผ่ขยายออกไป เช่น พ่อมีลูก ลูกมีหลาน หลานมีเหลน และสืบต่อกันไปเรื่อยๆ กล่าวคือเล็งถึงตัวบุคคลที่สืบเชื้อสายต่อๆ กันมา ต่อมาความหมายขยายไปถึงลักษณะนิสัยไม่ว่าจะด้านดีหรือเลวที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาและสั่งสมเป็นบุคลิกประจำตัว
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) สันดาน ๑ : (คำนาม) อุปนิสัยที่มีมาแต่กําเนิด เช่น มีสันดานดี มีสันดานเลว, (ภาษาปาก) มักใช้ไปในทางไม่สู้จะดี เช่นสันดานของเขาเป็นเช่นนั้น อย่าไปถือเลย. (ป., ส. สนฺตาน ว่า สืบต่อ).
(2) สืบสันดาน : (คำกริยา) สืบเชื้อสายมาโดยตรง.
สันดาน ในภาษาไทยมีนัยไปในทางไม่ดี
สนฺตาน ในบาลีไม่ได้บ่งว่าดีหรือเลว
: ฝึกใจให้สูงสุด
: ก็ขุดสันดานไม่ดีออกได้
#บาลีวันละคำ (800)
27-7-57