บาลีวันละคำ

อาสนวิหาร (บาลีวันละคำ 2499)

อ่านว่า อาด-สะ-นะ-วิ-หาน

ประกอบด้วยคำว่า อาสน + วิหาร

(๑) “อาสน

บาลีอ่านว่า อา-สะ-นะ รากศัพท์มาจาก :

(1) อาสฺ (ธาตุ = นั่ง; ตั้งไว้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: อาสฺ + ยุ > อน = อาสน แปลตามศัพท์ว่า (1) “การนั่ง” “ที่นั่ง” (2) “ที่เป็นที่ตั้ง

(2) อา (แทนศัพท์ “อาคนฺตฺวา” = มาแล้ว) + สิ (ธาตุ = นอน), ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ลบ อิ ที่ สิ (สิ > , ภาษาไวยากรณ์ว่า “ลบสระหน้า”)

: อา + สิ = อาสิ > อาส + ยุ > อน = อาสน แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่มานอน” (คือแท่นหรือเตียงนอน)

อาสน” หมายถึง การนั่ง, การนั่งลง, ที่นั่ง, บัลลังก์ (sitting, sitting down; a seat, throne)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อาสน– ๒, อาสน์, อาสนะ : (คำนาม) ที่นั่ง, เครื่องปูรองนั่ง, (ใช้เฉพาะพระภิกษุสามเณร). (ป., ส.).”

(๒) “วิหาร

บาลีอ่านว่า วิ-หา-ระ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + หรฺ (ธาตุ = อยู่อาศัย) + ปัจจัย, ลบ , “ทีฆะต้นธาตุ” คือ อะ ที่ -(รฺ) เป็น อา (หรฺ > หาร)

: วิ + หรฺ = วิหรฺ + = วิหรณ > วิหร > วิหาร แปลตามศัพท์ว่า “นำอิริยาบถไปเป็นพิเศษ” หมายความว่า ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ หรือยืน เดิน นั่ง นอน อยู่ในที่นั้น อาการเช่นนั้นจึงเรียกว่า “วิหาร

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลคำว่า “วิหาร” ไว้ดังนี้ –

(1) spending one’s time [sojourning or walking about], staying in a place, living; place of living, stay, abode [in general] (ใช้เวลา [พักแรมหรือเดินไปหา], พักอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่ง, ดำรงอยู่; วิหาร, ที่อยู่, ที่อาศัย [โดยทั่วๆ ไป])

(2) state of life, condition, mode of life (การดำรงชีวิต, สถานะ, วิถีชีวิต)

(3) a habitation for a Buddhist mendicant, an abode in the forest, or a hut; a dwelling, habitation, lodging [for a bhikkhu], a single room (วิหาร, ที่พักอาศัยในป่า, หรือกระท่อม; ที่อยู่อาศัย, ที่พักพิง, กุฏิ [สำหรับภิกษุ], ห้องเดี่ยว)

(4) place for convention of the bhikkhus, meeting place; place for rest & recreation [in garden or park] (สถานที่ประชุมของภิกษุ, ที่ประชุม; สถานที่พักผ่อนและหย่อนใจ [ในสวนหรืออุทยาน])

(5) a larger building for housing bhikkhus, an organized monastery, a Vihāra (ตึกใหญ่สำหรับภิกษุทั้งหลายอยู่อาศัย, วัด, วิหาร)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วิหาร, วิหาร– : (คำนาม) วัด, ที่อยู่ของพระสงฆ์; ที่ประดิษฐานพระพุทธรูป, คู่กับ โบสถ์; การพักผ่อน เช่น ทิวาวิหาร ว่า การพักผ่อนในเวลากลางวัน. (ป., ส.).”

ขยายความ :

วิหาร” ถ้าใช้เป็นอาการนาม มีความหมายว่า “การอยู่” ถ้าหมายถึงสถานที่ แปลว่า “ที่อยู่

ในภาษาบาลี “วิหาร” ที่แปลว่า “ที่อยู่” โดยทั่วไปหมายถึง “วัด” (monastery สถานที่ทางศาสนา โดยปรกติเป็นที่อยู่ของสงฆ์) เช่น เวฬุวัน เชตวัน บุพพาราม ชีวกัมพวัน สถานที่เหล่านี้ล้วนมีฐานะเป็น “วิหาร” คือที่อยู่ของพระสงฆ์

ในภาษาไทย “วิหาร” เข้าใจกันในความหมายเฉพาะว่า อาคารที่สร้างเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป คู่กับ “โบสถ์” คืออาคารที่สร้างเพื่อเป็นที่ทำสังฆกรรม

ในภาษาไทย เฉพาะอาคารหลังเดียวในวัด (ที่ประดิษฐานพระพุทธรูป) เรียกว่า “วิหาร” ในภาษาบาลี พื้นที่หมดทั้งวัด เรียกว่า “วิหาร

อาสน + วิหาร = อาสนวิหาร แปลตามศัพท์ว่า (1) “ที่นั่งและที่อยู่” (2) “ที่นั่งในที่อยู่” (3) “วิหารอันมีที่นั่ง

คำว่า “อาสนวิหาร” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

คำว่า “อาสนวิหาร” เป็นคำที่คิดขึ้นเทียบคำอังกฤษว่า cathedral เป็นคำที่เกี่ยวกับศาสนาคริสต์

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (อ่านเมื่อ 16 เมษายน 2562 เวลา 20:30) บอกไว้ดังนี้ –

…………..

คำว่า “cathedral” มาจากคำนามภาษาละติน “cathedra” (นั่ง หรือ เก้าอี้) ที่หมายถึงสถานที่ที่มี ที่นั่ง หรือ บัลลังก์ของมุขนายกหรืออัครมุขนายก ในสมัยโบราณเก้าอี้เป็นสัญลักษณ์ของผู้สอน ฉะนั้นบิชอปในฐานะที่เป็นผู้สอนศาสนาและมีหน้าที่การปกครองจึงมีบัลลังก์

…………..

ตามนัยนี้ “อาสนวิหาร” จึงแปลว่า “วิหารอันมีที่นั่ง (ของผู้เป็นประมุข) ประดิษฐานอยู่” ใช้เรียกศาสนสถานคือโบสถ์คริสต์ที่มีความสำคัญระดับสูง

…………..

เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2562 ได้เกิดเพลิงไหม้ “อาสนวิหาร” Cathédrale Notre-Dame de Paris ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

อาสนวิหาร” หรือมหาวิหารแห่งนี้เป็นวิหารเก่าแก่ อายุ 850 ปี

…………..

ดูก่อนภราดา!

: แม้แต่โบสถ์วิหารก็ยังรักษาตัวเองไว้ไม่ได้

: ท่านหวังจะสร้างอะไรไว้รักษาพระศาสนา?

#บาลีวันละคำ (2,499)

16-4-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *