บาลีวันละคำ

จามรี (บาลีวันละคำ 2498)

จามรี

อ่านว่า จา-มะ-รี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

จามรี : (คำนาม) ชื่อสัตว์เคี้ยวเอื้องชนิด Bos grunniens Linn. ในวงศ์ Bovidae ขนตามลำตัวละเอียดอ่อนยาวมาก สีนํ้าตาลเข้มจนถึงดำ โดยเฉพาะบริเวณสวาบคือบริเวณระหว่างชายโครงถึงสันกระดูกตะโพกมีขนสีดำห้อยยาวลงมาเกือบถึงพื้น ช่วงเขากว้างมาก หางยาวเป็นพู่ อาศัยอยู่แถบภูเขาสูงในทิเบต, จมร จมรี หรือ จามจุรี ก็เรียก; เรียกแส้ที่ทำด้วยขนหางจามรี ว่า แส้จามรี.”

ในภาษาบาลี มีคำที่เกี่ยวข้องอยู่ 3 คำ คือ “จมร” “จมรี” “จามร

(๑) “จมร

บาลีอ่านว่า จะ-มะ-ระ รากศัพท์มาจาก จมฺ (ธาตุ = กิน) + อร ปัจจัย

: จมฺ + อร = จมร แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่กินหญ้า” (คือกินหญ้าเป็นปกติ)

(๒) “จมรี

บาลีอ่านว่า จะ-มะ-รี รากศัพท์มาจาก จมฺ (ธาตุ = กิน) + อร ปัจจัย + อี ปัจจัย

: จมฺ + อร = จมร + อี = จมรี แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่กินหญ้า” (คือกินหญ้าเป็นปกติ)

หมายเหตุ: คำแปลตามศัพท์ที่ว่า “สัตว์ที่กินหญ้า” นี้ เป็นการแปลตามศัพท์จริงๆ คือถ้าถามว่า “จมร” และ “จมรี” แปลว่าอะไร ก็ตอบว่าแปลว่า “สัตว์ที่กินหญ้า” แต่ไม่ได้หมายความว่าสัตว์ที่กินหญ้าจะมีแต่ “จมร” ชนิดเดียว วัวควายก็กินหญ้า แต่ก็ไม่เรียกว่า “จมร” หรือ “จมรี

(๓) “จามร

บาลีอ่านว่า จา-มะ-ระ รากศัพท์มาจาก จมรี + ปัจจัย, ลบ , “ลบสระหน้า” คือ อี ที่ จมรี (จมรี > จมร) แล้วทีฆะ อะ ที่ -(มร) เป็น อาด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ” (จมร > จามร)

: จมรี + = จมรีณ > จมรี > จมร > จามร (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ทำด้วยขนหางจามรี

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “จามร” ว่า จามร, พัดหางจามรี

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “จามร” ว่า a chowrie, the tail of bos grunniens used as a whisk (แส้จามร, หางจามรีที่ใช้เป็นแส้)

ในภาษาไทย “จามร” อ่านว่า จา-มอน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

จามร : (คำนาม) แส้ด้ามยาวทำด้วยขนจามรี มีฝักแบนรูปคล้ายน้ำเต้าสำหรับสอดเก็บแส้ เป็นเครื่องสูงชนิดหนึ่ง.”

สรุปความตามพจนานุกรมฯ ว่า ในภาษาไทย :-

๑ “จามร” หมายถึง แส้ด้ามยาวทำด้วยขนจามรี

๒ “จามรี” หมายถึง –

(1) ชื่อสัตว์เคี้ยวเอื้องชนิดหนึ่ง (ที่ภาษาอังกฤษเรียก yak) อาศัยอยู่แถบภูเขาสูงในทิเบต

(2) แส้ที่ทำด้วยขนหางจามรี = แส้จามรี

ขยายความ :

ลักษณะพิเศษของตัว “จามรี” ที่รู้กันคือ เป็นสัตว์ที่ระวังรักษาขนหางเป็นอย่างยิ่ง ว่ากันว่าในระหว่างเดินหากิน ถ้าขนหางไปเกี่ยวติดอยู่กับกิ่งไม้หรือหนาม มันจะไม่ยอมเดินไปไหนเพราะกลัวขนหางจะขาด แต่จะค่อยๆ หาวิธีทำให้หลุดอย่างระวัดระวัง

ลักษณะเช่นนี้ผู้รู้นำมาเปรียบกับคนที่รักษาคุณงามความดีว่า-เหมือนจามรีรักขนหาง

ในภาษาไทย วรรณคดีไทยที่กล่าวถึง “จามรี” เท่าที่นึกได้ขณะนี้มี 2 เรื่อง คือ

๏ นางทรายจามเรศรู้…..รักขน

คือนุชสงวนงามตน…….แต่น้อย

ตายองตอบตายล………ยวนเนตร นางเอย

โฉมแม่บาดตาย้อย…….อยู่พู้นฉันใด๚ะ๛

ที่มา: นิราศนรินทร์ ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ บทที่ 75

๏ จามรีขนข้องอยู่…….หยุดปลด

ชีพบ่รักรักยศ………….ยิ่งไซร้

สัตว์โลกซึ่งสมมติ…….มีชาติ

ดูเยี่ยงสัตว์นั้นได้……..ยศซ้องสรรเสริญ๚ะ๛

ที่มา: โคลงโลกนิติ ฉบับประชุมจารึกวัดโพธิ์ บทที่ 66

…………..

ดูก่อนภราดา!

พึงสดับ :

กิกีว อณฺฑํ จมรีว วาลธึ

ปิยํว ปุตฺตํ นยนํว เอกกํ

ตเถว สีลํ อนุรกฺขมานกา

สุเปสลา โหถ สทา สคารวา.

ที่มา: สีลนิทเทส คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 1 หน้า 45

นกต้อยตีวิดรักษาไข่เป็นอันดี

จามรีรักษาขนหางเป็นที่สุด

มารดารักษาบุตรที่รักคนเดียวอย่างยิ่งยอด

คนตาบอดรักษาตาที่เหลืออยู่ข้างเดียว ฉันใด

ท่านผู้หนักในศีลหนักในธรรม

จงตามรักรักษาศีลไว้ทุกเมื่อ ฉันนั้นเถิด

#บาลีวันละคำ (2,498)

15-4-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *