อนุศาสนาจารย์ (บาลีวันละคำ 801)
อนุศาสนาจารย์
อ่านว่า (1) อะ-นุ-สา-สะ-นา-จาน (2) อะ-นุ-สาด-สะ-นา-จาน
(ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554)
ประกอบด้วย อนุ + ศาสน + อาจารย์
“อนุ” เป็นคำอุปสรรค แปลว่า น้อย, ภายหลัง, ตาม, เนืองๆ
“ศาสน” บาลีเป็น “สาสน” (สา-สะ-นะ) มีรากศัพท์มาจาก “สาส” ธาตุ ในความหมายว่า “สั่งสอน” และ “สสฺ” ธาตุ ในความหมายว่า “เบียดเบียน”
แปลตามศัพท์ว่า (1) “คำอันท่านสั่งสอน” (2) “คำเป็นเครื่องสั่งสอนชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก” (3) “คำสั่งสอนที่เบียดเบียนกิเลส”
คำว่า “สาสน” มีที่ใช้ในความหมาย 3 อย่าง คือ –
(1) คำสอน = teaching หรือที่เรียกทับศัพท์ว่า “ศาสนา”
(2) คำสั่ง (ในทางปกครองบังคับบัญชา) = order (to rule, govern)
(3) ข่าว = message คือที่เราคุ้นกันในคำว่า “สาส์น” (สาน)
ในที่นี้ “สาสน” หมายถึง คำสอน หรือ การสั่งสอน
และในคำนี้ อนุ + สาสน ชั้นหนึ่งก่อน เป็น “อนุสาสน” (อะ-นุ-สา-สะ-นะ) หรือใช้แบบคำไทยว่า “อนุศาสน์” (อะ-นุ-สาด) พจน.54 บอกความหมายไว้ว่า “การสอน; คําชี้แจง”
“อาจารย์ บาลีเป็น “อาจริย” (อา-จะ-ริ-ยะ, สันสกฤตเป็น อาจารฺย)
“อาจริย” ประกอบด้วยคำว่า อา + จรฺ + อิย = อาจริย
“อา” เป็นคำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง และเป็นคำแทนคำว่า “อาทิ” = แต่เดิม, เริ่มแรก และ “อาทร” (อา-ทะ-ระ) = เอาใจใส่, ให้ความสำคัญ
“จรฺ” เป็นธาตุ (รากศัพท์) = ประพฤติ, บำเพ็ญ, ศึกษา
“อิย” เป็นคำปัจจัย = พึง, ควร
อาจริย (บาลี) – อาจารฺย (สันสกฤต) – อาจารย์ (ไทย) แปลตามศัพท์ว่า –
(1) ผู้ประพฤติเอื้อเฟื้อเกื้อกูลแก่ศิษย์
(2) ผู้ยังศิษย์ให้ศึกษามาแต่ต้น
(3ป ผู้อันศิษย์พึงประพฤติ คือปรนนิบัติด้วยความเอาใจใส่
(4) ผู้บำเพ็ญประโยชน์สุขแก่ศิษย์อย่างดียิ่ง
อนุสาสน + อาจริย = อนุสาสนาจริย > อนุศาสนาจารย์ แปลตามศัพท์ว่า “อาจารย์ผู้ตามสอน” หรือ “อาจารย์ผู้พร่ำสอน”
พจน.54 บอกความหมายไว้ว่า “อาจารย์ผู้อบรมศีลธรรมของหน่วยราชการ”
ควรทราบ :
(1) คำว่า “อนุศาสนาจารย์” มาจากคำว่า อนุสาสน > อนุศาสน์ = การพร่ำสอน ไม่ใช่ อนุศาสนา = ศาสนาน้อยๆ หรืออาจารย์น้อยๆ
(2) คำนี้ไม่ได้อ่านว่า อะ-นุ-สาด-สะ-หฺนา–แต่อ่านว่า อะ-นุ-สา-สะ-นา– หรือ อะ-นุ-สาด-สะ-นา- (-นา– ไม่ใช่ –หฺนา-)
(3) ปัจจุบันหน่วยราชการไทยที่มีตำแหน่ง “อนุศาสนาจารย์” ทำหน้าที่อบรมศีลธรรมให้แก่ข้าราชการในสังกัดโดยตรง คือ คงมีแต่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม (กรมราชทัณฑ์ ก็มีตำแหน่ง “อนุศาสนาจารย์” แต่ทำหน้าที่อบรมผู้ต้องขัง ไม่ได้อบรมข้าราชการในสังกัดโดยตรง กรมการศาสนาก็เคยมีตำแหน่ง “อนุศาสนาจารย์” แต่ก็เหมือนกับกรมราชทัณฑ์ คือไม่ได้อบรมข้าราชการในสังกัดโดยตรง และปัจจุบันนี้น่าจะยุบตำแหน่งนี้ไปแล้วหรือไม่ก็เรียกชื่อเป็นอย่างอื่น)
: ทำให้เขาเห็น ได้ผลเน้นๆ ยิ่งกว่าพูดให้เขาฟัง
#บาลีวันละคำ (801)
28-7-57