บาลีวันละคำ

หรรษา (บาลีวันละคำ 1,527)

หรรษา

อ่านว่า หัน-สา

หรรษา” บาลีเป็น “หาส” (หา-สะ) รากศัพท์มาจาก หสฺ (ธาตุ = ร่าเริง, ยินดี, หัวเราะ) + ปัจจัย, ลบ , ยืดเสียง อะ ที่ -(สฺ) เป็น อา (หสฺ > หาส)

: หสฺ + = หสณ > หส > หาส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ภาวะเป็นเหตุให้ร่าเริง” (2) “ความหัวเราะ

หาส” หมายถึง การหัวเราะ; ความขบขัน, ความเพลิดเพลิน (laughter; mirth, joy)

หาส”  สันสกฤตเป็น “หรฺษ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน เก็บคำว่า “หรฺษ” ไว้ 2 คำ บอกไว้ดังนี้ –

(1) หรฺษ : (คำคุณศัพท์) มีความสุข, มีความยินดี; happy, delighted.

(2) หรฺษ : (คำนาม) ปรีติ, ความยินดี, ความสุข; joy, pleasure, happiness.

หาส > หรฺษ ภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “หรรษา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

หรรษ-, หรรษา : (คำนาม) ความรื่นเริง, ความยินดี. (ส. หรฺษ).”

อย่างไรก็ตาม พจน.54 ก็เก็บคำว่า “หาส” ไว้ด้วย โดยบอกไว้ดังนี้ –

หาสะ : (คำนาม) การหัวเราะ, ความสนุกรื่นเริง. (ป., ส.).”

เช่นเดียวกับ สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ก็มีคำว่า “หาส” ด้วยเช่นกัน และเก็บไว้ 2 คำ ดังนี้ –

(1) หาส : (คำนาม) วิลาส, การยั่วยวนชวนให้รักหรือชม การเรียก; coquetry, the act of exciting love or admiration; calling.

(2) หาส : (คำนาม) หัวเราะ, การหัวเราะ; laughter, laughing.

อภิปราย :

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) เก็บศัพท์ว่า “หาส” ( = หรรษา) ไว้ 2 คำ รากศัพท์มาจากธาตุและปัจจัยตัวเดียวกัน แต่บอกคำแปลต่างกัน คือ –

(1) หาส ๑ บอกคำแปลว่า ความยินดี, ความร่าเริง, ความสบายใจ

(2) หาส ๒ บอกคำแปลว่า การหัวเราะ, ความขบขัน, ความยิ้มแย้ม

แสดงว่า “หาส” มีความหมาย 2 นัย กล่าวคือ –

(1) ความยินดี, ความร่าเริง, ความสบายใจ เป็น “หรรษาทางใจ” แม้ไม่แสดงออกทางกาย อาการดังกล่าวนี้ก็เกิดมีได้

(2) การหัวเราะ, ความขบขัน, ความยิ้มแย้ม เป็น “หรรษาทางกาย” ถ้าไม่แสดงออกทางกายก็จะไม่มีใครรู้ได้

ตามหลัก ท่านว่าพระอรหันต์จะไม่หัวเราะ (หรรษาทางกาย) แต่พระอรหันต์ย่อมมีความผ่องใส คือ “หรรษาทางใจ” เป็นพื้นของจิต ความผ่องใสของจิตพระอรหันต์ไม่ใช่มีเป็นบางเวลา แต่ย่อมมีตลอดเวลาเป็นปกติ เช่นเดียวกับมีสติไพบูลย์ตลอดเวลา

………..

: ทุกครั้งที่เราหัวเราะตั้งแต่เกิดมาจนถึงวันนี้

ถ้ามีใครถ่ายภาพไว้แล้วเอามาฉายติดต่อกันเหมือนฉายภาพยนตร์

เราก็จะได้เห็นคนบ้าคนหนึ่ง

ดูก่อนภราดา!

: ทุกครั้งที่ท่านหัวเราะ โปรดนึกถึงความจริงข้อนี้ไว้ด้วย

9-8-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย