บาลีวันละคำ

สยามมาตา (บาลีวันละคำ 1,530)

สยามมาตา

อ่านตามหลักภาษาว่า สะ-หฺยาม-มะ-มา-ตา

อ่านตามคล่องปากว่า สะ-หฺยาม-มา-ตา

ประกอบด้วย สยาม + มาตา

(๑) “สยาม” (สะ-หฺยาม)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สยาม : ชื่อเรียกประเทศไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นประเทศไทยเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒; ของประเทศไทย.”

มีผู้สันนิษฐานว่า “สยาม” ที่เป็นชื่อประเทศไทยมาจากคำสันสกฤตว่า “ศยาม” เนื่องจากคนไทยมีผิวสีคล้ำ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

ศฺยาม : มีสีดำหรือสีครามหม่น; มีสีเขียว black or dark-blue; green.”

พจน.54 บอกไว้ว่า –

ศยาม : (คำวิเศษณ์) ดํา, คลํ้า. (ส.).”

ศฺยาม” สันสกฤต ตรงกับบาลีว่า “สาม” (สา-มะ)

สาม” รากศัพท์มาจาก –

1) สา (ธาตุ = ทำให้บาง) + ปัจจัย

: สา + = สาม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สีอันเขาทำให้จางลงด้วยสีตรงข้าม” (2) “สีที่ทำให้ความสวยงามด้อยลง

2) สา (ศรี, สิริ) + เม (ธาตุ = เปลี่ยน) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ, แผลง เอ ที่ เม เป็น (เม > )

: สา + เม = สาเม + กฺวิ = สาเมกฺวิ > สาเม > สาม แปลตามศัพท์ว่า “สีเป็นเหตุเปลี่ยนไปแห่งสิริ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกไว้ว่า “สาม : เทียบ ศฺยาม ดำ ศฺยาว น้ำเงิน (śyāma black & śyāva brown) และบอกความหมายไว้ดังนี้ –

1 ดำ, มืด (เหมือนน้ำตาลแก่) (black, dark [something like deep brown])

2 เหลือง, มีสีทอง, งดงาม (yellow, of a golden colour, beautiful)

จะเห็นได้ว่า สามศฺยามสยาม ไม่ได้แปลว่าดำ หรือคล้ำ อย่างเดียว แต่หมายถึงสีเหลือง สีทอง หรืองดงามก็ได้ด้วย

(๒) “มาตา

มาตา” เป็นศัพท์ที่แจกรูปตามวิภัตติแล้ว ศัพท์เดิมเป็น “มาตุ” อ่านว่า มา-ตุ รากศัพท์มาจาก –

(1) มานฺ (ธาตุ = รัก, ทะนุถนอม) + ราตุ ปัจจัย, ลบ ที่ ราตุ (ราตุ > อาตุ), ลบพยัญชนะที่สุดธาตุและสระ (มานฺ > มา > )

: มานฺ > มา > + ราตุ > อาตุ : + อาตุ = มาตุ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รักบุตรโดยธรรมชาติ

(2) ปา (ธาตุ = ดื่ม) + ตุ ปัจจัย, แปลง ที่ ปา เป็น (ปา > มา)

: ปา + ตุ = ปาตุ > มาตุ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังบุตรให้ดื่มนม

มาตุ” เมื่อใช้เป็นประธานในประโยค เปลี่ยนรูปเป็น “มาตา” (เอกพจน์) คือที่เราแปลงใช้ในภาษาไทยเป็น “มารดา” (ในบาลี เมื่อใดเป็น “มาตา” เมื่อใดเป็น “มาตุ” มีกฎปลีกย่อยอีก)

สยาม + มาตา = สยามมาตา แปลเท่าศัพท์ว่า “มารดาแห่งสยาม” แปลขยายความว่า “พระผู้ดำรงอยู่ในฐานะเสมือนมารดาแห่งปวงชนชาวสยาม” หรือ “…. เสมือนมารดาแห่งแผ่นดินสยาม

สยามมาตา” เป็นคำที่มีผู้คิดขึ้นเมื่อกล่าวถวายราชสดุดีสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ อันเนื่องมาจากพสกนิกรชาวไทยมีความจงรักภักดีเทิดทูนพระองค์ในฐานะ “แม่แห่งปวงชนชาวสยาม” จึงแปลงความจากภาษาไทยเป็นบาลีสันสกฤต

มารดา, แม่ = มาตา

ปวงชนชาวสยาม, แผ่นดินสยาม = สยาม

บาลีสันสกฤตนิยมแปลจากหลังมาหน้า จึงเอาคำว่า “สยาม” ไว้หน้า “มาตา” ไว้หลัง เป็น สยามมาตา = มารดาแห่งสยาม

…………

๏ แม่เราเลี้ยงเรามาหนึ่งปาก

รักมากห่วงมากเป็นหนักหนา

ถ้าปากสองปากสามตามมา

ก็ทุกข์ยากมากกว่าทับทวี

๏ นี่หกสิบเจ็ดสิบล้านปาก

จะรักมากห่วงมากเพียงไหนนี่

ขอเดชะพระมหาบารมี

ขอพระมหาราชินีทรงพระเจริญ๚ะ๛

—————–

(หยิบคำมาจากกลอนของ ประยอม ซองทอง)

12-9-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย