ศราทธพรต (บาลีวันละคำ 1,535)
ศราทธพรต
อ่านว่า สาด-ทะ-พฺรด
ประกอบด้วย ศราทธ + พรต
(๑) “ศราทธ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ศราทธ-, ศราทธ์ : (คำนาม) การทําบุญให้แก่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว. (ส.).”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
“ศราทธ์ : การทำบุญให้แก่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว (ต่างจาก สารท).”
ไปดูที่คำว่า “สารท” ในบาลี พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกไว้ว่า “สารท” ตรงกับสันสกฤตว่า “ศารท”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “ศารท”ไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ศารท : (คำคุณศัพท์) สุภาพ, เรียบร้อย; ใหม่; อันเกิดหรือเพาะปลูกในฤดูร้อน; modes, decent; new; produced in the sultry season; – น. ปี; ข้าวอันสุกในฤดูร้อน; สรัสวดี; นามของพระทุรคา; a year; rice ripening in the sultry season; Surasvati; a name of Durgā.”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกความหมายของคำว่า “สารท” ไว้ว่า –
1. “อันเกิดมีหรือเป็นไปในสรทสมัย”, เช่น ดวงจันทร์ในฤดูใบไม้ร่วง อันนวลแจ่มสดใส
2. เทศกาลทำบุญสิ้นเดือนสิบ เดิมเป็นฤดูทำบุญด้วยเอาข้าวที่กำลังท้อง (ข้าวรวงเป็นน้ำนม) มาทำยาคูและกวนข้าวปายาสเลี้ยงพราหมณ์ เรียกว่ากวนข้าวทิพย์ ส่วนผู้นับถือพระพุทธศาสนานำคตินั้นมาใช้ แต่เปลี่ยนเป็นถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ อุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติในปรโลก สำหรับชาวบ้านทั่วไปมักทำแต่กระยาสารท เป็นต้น (ต่างจาก ศราทธ์)
……….
เป็นอันว่า “ศราทธ์” กับ “ศารท” เป็นคนละคำกัน และ “ศราทธ์” เป็นคนละคำกับ “สารท” ในบาลี แต่มีคติบางอย่างตรงกัน คือเป็นเทศกาลทำบุญอุทิศให้แก่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว
คำว่า “ศราทธ” ในภาษาสันกฤต สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ศราทธ : (คำนาม) ‘ศราทธ,’ เปรตกฤตย์พิธีที่อนุพฤตกันตามกาลอันมีกำหนด, และเพื่อการย์ต่างๆ, มีการบูชาเทพดาและปิตฤด้วยน้ำและไฟ, และให้ทานและอาหารแก่ญาติที่อยู่พร้อมหน้ากันและพราหมณ์ผู้ช่วยในพิธีนั้น; a funeral ceremony observed at fixed periods, and for different purposes, consisting of offerings with water and fire to the gods and manes and gifts and food to the relations present and assisting Brāhmaṇs.”
(๒) “พรต” สันสกฤตเป็น “วฺรต”
(1) บาลีเป็น “วตฺต” (วัด-ตะ) รากศัพท์มาจาก วตฺตฺ (ธาตุ = ถือเอา, ประพฤติ) + อ ปัจจัย
: วตฺต + อ = วตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ข้อที่ควรถือประพฤติ”
(2) บาลีเป็น “วต” (วะ-ตะ) รากศัพท์มาจาก –
1) วตฺ (ธาตุ = เป็นไป) + อ ปัจจัย
: วตฺ + อ = วตํ แปลตามศัพท์ว่า “การที่เป็นไปตามปกติ”
2) วชฺ (ธาตุ = ปรุงแต่ง, กระทำ) + อ ปัจจัย, แปลง ช เป็น ต
: วชฺ > วต + อ = วตํ แปลตามศัพท์ว่า “การอันเขาปรุงแต่ง”
“วตฺต” หรือ “วต” ใช้ในภาษาไทยเป็น “วัตร” และ “พรต” หมายถึงกิจที่ควรถือประพฤติ, กิจพึงกระทำ, ข้อปฏิบัติ, ความประพฤติ, ธรรมเนียม, ประเพณี, สิ่งที่ทำ, หน้าที่, การบริการ, ประเพณี, งาน (observance, vow, virtue, that which is done, which goes on or is customary, duty, service, custom, function)
ศราทธ + พรต = ศราทธพรต
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ศราทธพรต : (คำนาม) พิธีทําบุญให้แก่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว. (ส. ศฺราทฺธ + วฺรต).”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอก ไว้ว่า –
ศราทธพรต : พิธีทำบุญอุทิศแก่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว; ศราทธพรตคาถา หรือคาถาศราทธพรต หมายถึง คาถาหมวดหนึ่ง (มีร้อยแก้วนำเล็กน้อย) ที่พระสงฆ์ใช้สวดรับเทศน์ ในงานพระราชพิธีเผาศพในประเทศไทย แต่บัดนี้ใช้กันกว้างออกไปแม้ในพิธีราษฎร์ที่จะจัดให้เป็นการใหญ่.
……….
สรุปว่า คนเอเชียมีวัฒนธรรมทำบุญอุทิศให้แก่ญาติที่ล่วงลับไปแล้วเป็นเทศกาลประจำปี เทศกาลนี้ในภาษาไทยเรียกรวมๆ กันว่า “สารท” (สาด) จะเป็นสารทของชนชาติไหนก็ต่อท้ายด้วยชื่อชาตินั้น เช่น สารทจีน สารทไทย สารทญวน
คำว่า “สารท” กับ “ศราทธ” แม้นักภาษาจะบอกว่าเป็นคนละคำกัน แต่ก็มีเสียงและความหมายที่คล้ายกัน คือเทศกาลทําบุญให้แก่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว
: คนประมาท รอให้ญาติทำบุญส่งไปให้
: คนปัญญาไว ทำบุญเอาไว้ด้วยตัวเอง
17-8-59