บาลีวันละคำ

กัปปิยกุฎี (บาลีวันละคำ 1,536)

กัปปิยกุฎี

เคยเห็นตัว แต่ไม่รู้จักชื่อ

อ่านว่า กับ-ปิ-ยะ-กุ-ดี

ประกอบด้วย กัปปิย + กุฎี

(๑) “กัปปิย

บาลีเขียน “กปฺปิย” อ่านว่า กับ-ปิ-ยะ ประกอบขึ้นจาก กปฺป + อิย ปัจจัย

(1) กปฺป รากศัพท์มาจาก กปฺป (ธาตุ = กำหนด) + ปัจจัย

: กปฺป + = กปฺป แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะอันเขากำหนดขึ้น

(2) กปฺป + อิย = กปฺปิย มีความหมายว่า เหมาะสม, สมควร, ถูกต้อง, เหมาะเจาะ (fitting, suitable, proper)

(๒) “กุฎี

บาลีเป็น “กุฏิ” (กุ-ติ) (-ฏิ ปฏัก อนึ่ง ศัพท์นี้เป็น “กุฏี” ก็มี) รากศัพท์มาจาก กุฏฺ (ธาตุ = ตัด; อยู่อาศัย) + อิ ปัจจัย

: กุฏฺ + อิ = กุฏิ แปลตามศัพท์ว่า (1) “โรงเรือนที่ตัด” (คือตัดความกังวล เนื่องจากเป็นกระท่อมเล็กๆ ไม่ต้องบำรุงรักษามาก และไม่มีราคาค่างวด) (2) “โรงเรือนเป็นที่อยู่อาศัย

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กุฏิ” ว่า any single-roomed abode, a hut, cabin, cot, shed (ที่อาศัยที่มีห้องเดียว, กระท่อม, เพิง, สิ่งปลูกสร้างเล็กๆ สำหรับอาศัย)

ภาษาไทยเขียนทับศัพท์เป็น “กุฏิ” ออกเสียงว่า กุ-ติ ก็มี (คนเก่าๆ ออกเสียงตามสะดวกปากว่า กะ-ติ ก็มี) ออกเสียงว่า กุด ก็มี เปลี่ยน ปฏักเป็น ชฎา เขียนเป็น “กุฎี” (กุ-ดี) ก็มี แผลงเป็น “กระฎี” ก็มี

ความหมายที่เข้าใจกันในภาษาไทย “กุฏิกุฎี” ก็คือ “เรือนหรือตึกสําหรับพระภิกษุสามเณรอยู่”

กปฺปิย + กุฏิ = กปฺปิยกุฏิ > กัปปิยกุฏิ > กัปปิยกุฎี

ที่เขียนเป็น “กัปปิยกุฏิ” ผู้เขียนบาลีวันละคำเคยได้ยินคนเก่าๆ ออกเสียงว่า กับ-ปิ-ยะ-กุด ก็มี

กัปปิยกุฏิ > กัปปิยกุฎี แปลตามศัพท์ว่า “โรงเรือนสำหรับเก็บสิ่งของอันสมควร” หมายถึง คลังเก็บสิ่งของอันเป็นของสงฆ์

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กปฺปิยกุฏี” ว่า a building outside the Vihāra, wherein allowable articles were stored, a kind of warehouse (กุฎีนอกวิหารใช้เป็นที่เก็บของที่ถูกต้องตามพุทธานุญาต, โรงเก็บของในวัด)

ในหมู่ชาวพุทธที่คุ้นธรรมเนียมวัด มักเข้าใจกันโดยทั่วไปว่า กัปปิยกุฏิ > กัปปิยกุฎี คือโรงครัวของวัด หรือที่เรียกว่า “ครัวสงฆ์” (อาจเป็นคำเดียวกับคำว่า “สมณะครัว” ที่ผู้รู้บอกว่าเป็นต้นเดิมของคำว่า “สำมะโนครัว” ก็เป็นได้)

ภูมิหลังของคำ:

ชีวิตของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนานั้นพระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาตให้ภิกษุสะสมอาหารที่ได้ในวันนี้เพื่อเอาไว้ฉันในวันอื่น ท่านกำหนดให้บิณฑบาตเลี้ยงชีพวันต่อวัน มีคำกล่าวถึงการเที่ยวบิณฑบาตของพระว่า “อาหารพระเหมือนอาหารเสือ” คือบางวันอิ่ม บางวันอด ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ภิกษุต้องมีภาระกังวลกับการดูแลอาหารที่เก็บไว้ คือให้เสียเวลากับเรื่องขบฉันให้น้อยที่สุด ใช้เวลาเพื่อการศึกษาและปฏิบัติธรรมให้มากที่สุด

ในคัมภีร์เล่าเรื่องไว้ว่า คฤหบดีคนหนึ่งชื่อ “จิตตคฤหบดี” บรรลุธรรมเป็นอนาคามีบุคคล แต่ยังไม่เคยได้เห็นพระพุทธเจ้าเลย อยู่มาคราวหนึ่งจิตตคฤหบดีเตรียมการเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่เมืองสาวัตถี โดยเดินทางไปพร้อมกับพุทธบริษัทนับพัน จิตตคฤหบดีเตรียมเสบียงบรรทุกเกวียนไปด้วยเป็นจำนวนมาก (คัมภีร์บอกว่า ๕๐๐ เล่มเกวียน)

เนื่องจากท่านคฤหบดีเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง ระหว่างเดินทางแวะพักที่เมืองไหน ชาวเมืองนั้นก็จัดเลี้ยงรับรองทุกแห่งไป ใช้เวลาเดินทางเดือนหนึ่งโดยไม่ต้องใช้เสบียงที่เตรียมไปนั่นเลย

เมื่อไปถึงพระเชตวัน เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้ว ท่านคฤหบดีก็ประกาศขอรับเป็นเจ้าภาพเลี้ยงพระเป็นเวลา ๑ เดือน ปรากฏว่ามีชาวเมืองนำสิ่งของมาช่วยทำอาหารเลี้ยงพระตลอดทั้งเดือนโดยไม่ต้องใช้เสบียงของท่านคฤหบดีเลยแม้แต่น้อย

เมื่อจะเดินทางกลับ ท่านคฤหบดีจึงถวายเสบียงที่ตนเตรียมมาทั้งหมดให้เป็นของสงฆ์ เป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้สงฆ์มี “กัปปิยกุฏี” คือครัววัดหรือครัวสงฆ์ได้ โดยให้มีไวยาวัจกรหรือกัปปิยการกคือชาวบ้านที่มีศรัทธาสละเวลามาช่วยปรุงเสบียงที่เก็บไว้ในโรงครัวถวายพระเป็นวันๆ ไป (พระหุงต้มฉันเอง ผิดวินัย)

สมัยก่อน ชาวบ้านไถนาอยู่ข้างวัด พอใกล้เพลก็จะร้องบอกกันว่า “ไปดูหน่อยซิ เพลนี้พระมีอะไรฉันหรือยัง” แล้วก็จะมีโยมผู้หญิงเข้าไปที่ “กัปปิยกุฏิ” เอาเสบียงที่เก็บไว้ในนั้นออกมาปรุงอาหารถวายพระตามแต่จะพอมีเวลาทำได้

ปัจจุบันก็ยังมี “กัปปิยกุฏิ” อยู่ในวัดทั่วไป แต่ก็มักเรียกกันเป็นคำไทยว่า ครัววัด ครัวสงฆ์ แทบจะไม่มีใครรู้จักคำว่า “กัปปิยกุฏิ” กันแล้ว

…………

: เรื่องกินเป็นเรื่องสำคัญ

: แต่จงเสียเวลากับมันให้น้อยที่สุด

18-8-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย