บาลีวันละคำ

สาบาน (บาลีวันละคำ 1,544)

สาบาน

อ่านว่า สา-บาน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

สาบาน : (คำกริยา) กล่าวคําปฏิญาณโดยอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นพยาน, ประเพณีเดิมจะต้องดื่มนํ้าพระพุทธมนต์ นํ้าเทพมนตร์ หรือ สุราผสมเลือดที่ผู้ร่วมกล่าวคำปฏิญาณกรีดให้หยดลงไปด้วย เช่น สาบานเป็นพี่น้องกัน เพื่อนร่วมสาบาน; (คำที่ใช้ในกฎหมาย) กล่าวคําปฏิญาณตามลัทธิศาสนาหรือจารีตประเพณีแห่งชาติของตนว่า จะให้การตามสัตย์จริง. (ป. สปน; ส. ศปน).”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้บทนิยามเป็นดังนี้ –

สาบาน : (คำกริยา) กล่าวคำปฏิญาณโดยอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นพยาน, ประเพณีเดิมจะต้องดื่มนํ้าพระพุทธมนต์ นํ้าเทพมนตร์ หรือ สุราผสมเลือดที่ผู้ร่วมกล่าวคำปฏิญาณกรีดให้หยดลงไปด้วย เช่น สาบานเป็นพี่น้องกัน เพื่อนร่วมสาบาน. (ป. สปน; ส. ศปน).”

(ตัดข้อความที่เป็นคำที่ใช้ในกฎหมายออกไปทั้งหมด)

พจน.54 บอกว่า “สาบาน” มาจากคำบาลีว่า “สปน” และคำสันสกฤตว่า “ศปน

สปน” (สะ-ปะ-นะ) รากศัพท์มาจาก สปฺ (ธาตุ = แช่ง, ด่า) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: สปฺ + ยุ > อน = สปน แปลตามศัพท์ว่า “การแช่งด่า

ในบาลีมีอีกศัพท์หนึ่งที่มาจากรากศัพท์เดียวกัน คือ “สปถ” (สะ-ปะ-ถะ)

: สปฺ + ปัจจัย = สปถ แปลอย่างเดียวกับ “สปน

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สปถ” ว่า an oath (การสาบาน)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีทั้ง “ศปถ” และ “ศปน” บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

(1) สปถ : (คำนาม) ‘ศบถ,’ คำศบถ; การศบถ; คำศาป, การศาป; an oath; asseveration by oath; an imprecation, cursing.

(2) ศปน : (คำนาม) คำศบถ การศาป; an oath; cursing or wishing ill.

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล oath ว่า คำสบถ, คำสาบาน, สัตย์สาบาน

สปถ” ก็คือที่เราเอามาใช้ในภาษาไทยว่า “สบถ” (สะ-บด) พจน.54 บอกไว้ว่า –

สบถ : (คำกริยา) เปล่งถ้อยคำเพื่อเน้นให้คนเชื่อโดยอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ลงโทษตนหรือให้ภัยพิบัติต่าง ๆ เกิดกับตนถ้าหากตนไม่ปฏิบัติตามหรือไม่เป็นไปอย่างที่พูดไว้. (ป. สปถ; ส. ศปถ).”

มีคำไทยที่นิยมพูดควบกันว่า “สบถสาบาน

สบถ” มาจาก “สปถ

สาบาน” ก็น่าจะมาจาก “สปน” คือ “สปน” แผลงรูปเป็น “สาบาน

มีคำไทยเก่าที่นิยมพูดว่า “น้ำสาบาน” และดูจากบทนิยามคำว่า “สาบาน” ความหมายเดิมก็เกี่ยวกับ “น้ำ” อย่างชัดเจน แต่ความหมายของ “สปน” “สปถ” หรือ oath ไม่เกี่ยวกับ “น้ำ” เลย

คำว่า “น้ำสาบาน” พจน.54 บอกไว้ว่า –

น้ำสาบาน : (คำนาม) น้ำศักดิ์สิทธิ์ เช่นน้ำพระพุทธมนต์ น้ำเทพมนตร์ หรือสุราผสมเลือดที่ผู้ร่วมสาบานกรีดให้หยดลงแล้วดื่มประกอบกับคำปฏิญาณ เช่น พี่น้องร่วมน้ำสาบาน เพื่อนร่วมน้ำสาบาน.”

ผู้เขียนบาลีวันละคำขอเสนอทฤษฎีใหม่ว่า “สาบาน” น่าจะมาจากคำบาลีว่า “สาปาน” (สา-ปา-นะ) รากศัพท์มาจาก สมฺพนฺธ + ปาน

สมฺพนฺธ” (สำ-พัน-ทะ) แปลว่า “เกี่ยวข้อง” ตัดคำเหลือเพียง “” ทีฆะ อะ เป็น อา : สมฺพนฺธ > > สา

ปาน” (ปา-นะ) แปลตามศัพท์ว่า “อันควรดื่ม” หมายถึง น้ำดื่ม

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปาน” ว่า drink, including water as well as any other liquid (เครื่องดื่ม รวมถึงน้ำและของเหลวชนิดอื่นๆ)

: สมฺพนฺธ > > สา + ปาน = สาปาน แปลตามศัพท์ว่า “เกี่ยวข้องโดยการดื่มน้ำ” = เพราะดื่มน้ำร่วมกันไว้จึงมีข้อผูกพันที่จะต้องปฏิบัติต่อกัน > ดื่มน้ำสาบาน

สาปาน” เทียบศัพท์ได้กับ “สาโลหิต” ซึ่งท่านแสดงที่มาของรูปศัพท์ว่า –

………

โลหิเตน สมฺพนฺโธ สาโลหิโต = ผู้เกี่ยวเนื่องกันทางสายเลือด

สมฺพนฺธ + โลหิต แปลง สมฺพนฺธ เป็น สา

………

อีกคำหนึ่งที่เทียบกันได้คือคำว่า “สจฺจปาน” (สัด-จะ-ปา-นะ) ที่เรียกเป็นคำเต็มในภาษาไทยว่า “ศรีสัจจปานการ” (พระราชพิธีศรีสัจจปานการ) คือที่เรารู้จักกันในคำว่า “ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา” อันเป็นความหมายเดียวกับคำว่า “น้ำสาบาน” นั่นเอง

ดังนั้น : สจฺจปาน : สาปาน > น้ำสาบาน > สาบาน

จึงเสนอมาเพื่อโปรดพิจารณา

…………..

: สาบานร้อยวัด

: ไม่เท่ารักษาสัตย์หนึ่งเดียว

26-8-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย