ปิฎกสัมปทาน (บาลีวันละคำ 2486)
ปิฎกสัมปทาน
ข้อ 4 ในกาลามสูตร: อ้างตำรา
อ่านตามหลักภาษาว่า ปิ-ดก-กะ-สำ-ปะ-ทาน
อ่านตามสะดวกปากว่า ปิ-ดก-สำ-ปะ-ทาน
(ภาษาไทย: ปิฎก- ฎ ชฎา ไม่ใช่ ฏ ปฏัก)
หลักข้อที่ 4 ในกาลามสูตร มีข้อความที่เป็นภาษาบาลีว่า “มา ปิฏกสมฺปทาเนน” เขียนเป็นคำอ่านว่า มา ปิฏะกะสัมปะทาเนนะ
(ภาษาบาลี: ปิฏก- ฏ ปฏัก ไม่ใช่ ฎ ชฎา)
แปลว่า “ท่านทั้งหลายอย่าได้ยึดถือโดยการอ้างตำรา”
“ปิฏกสมฺปทาเนน” (ปิ-ตะ-กะ-สำ-ปะ-ทา-เน-นะ) รูปคำเดิมคือ “ปิฏกสมฺปทาน” (ปิ-ตะ-กะ-สำ-ปะ-ทา-นะ) ประกอบด้วยคำว่า ปิฏก + สมฺปทาน
(๑) “ปิฏก” (ปิ-ตะ-กะ)
บาลีเป็น “ปิฏก” (บาลี ฏ ปฏัก) รากศัพท์มาจาก ปิฏฺ (ธาตุ = รวบรวม; เบียดเบียน; ส่งเสียง) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ)
: ปิฏฺ + ณฺวุ > อก = ปิฏก แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “ภาชนะที่รวมข้าวสารเป็นต้นไว้”
(2) “ภาชนะอันเขาเบียดเบียน”
(3) “หมู่ธรรมเป็นที่อันเขารวบรวมเนื้อความนั้นๆ ไว้”
(4) “หมู่ธรรมอันเขาส่งเสียง” (คือถูกนำออกมาท่องบ่น)
“ปิฏก” มีความหมาย 2 อย่าง คือ –
(1) (ปุงลิงค์) (นปุงสกลิงค์) ตะกร้า, กระจาด, กระบุง (a basket)
(2) (นปุงสกลิงค์) ตำรา, หมวดคำสอนในพระพุทธศาสนา (a scripture, any of the three main divisions of the Pāli Canon)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ปิฎก : (คำนาม) ตะกร้า; หมวดแห่งคำสอนในพระพุทธศาสนา. (ป., ส. ปิฏก).”
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ดังนี้ –
ปิฎก (Piṭaka) : a basket; any of the three main divisions of the Pāli Canon.
(๒) “สมฺปทาน” (สำ-ปะ-ทา-นะ)
รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + ป (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + ทา (ธาตุ = ให้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น มฺ (สํ > สมฺ)
: สํ > สมฺ + ป = สมฺป + ทา = สมฺปทา + ยุ > อน = สมฺปทาน แปลตามศัพท์ว่า “การให้อย่างทั่วถึงพร้อมกัน”
“สมฺปทาน” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –
(1) การให้, การมอบให้ (giving, bestowing)
(2) การบรรลุ, ลักษณะ, คุณสมบัติ (attainment, characteristic, attribute)
“สมฺปทาน” เมื่อขยายความ มีความหมายหลายนัย เฉพาะนัยที่เด่น คือ –
(1) มีการมอบ (สิทธิ, ผลประโยชน์ตอบแทน ฯลฯ) ให้แก่ผู้ใด ผู้นั้นชื่อว่า “สมฺปทาน” = ผู้ได้รับมอบ
(2) การมอบ (สิทธิ, ผลประโยชน์ตอบแทน ฯลฯ) กระทำในที่ใด ที่นั้นชื่อว่า “สมฺปทาน” = ที่เป็นที่มอบให้ (ซึ่งสิทธิ, ผลประโยชน์ตอบแทน ฯลฯ)
(3) ในทางไวยากรณ์ ตามหลักวากยสัมพันธ์ (วิชาว่าด้วยการเกี่ยวข้องและหน้าที่ของคำในประโยค) คำนามที่แจกรูปด้วยวิภัตติที่สี่ (จตุตถีวิภัตติ) มีคำแปลว่า แก่– เพื่อ– ต่อ– ให้เรียกชื่อวากยสัมพันธ์ว่า “สมฺปทาน” (อ่านว่า สำ-ปะ-ทา-นะ)
“สมฺปทาน” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สัมปทาน”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สัมปทาน : (คำที่ใช้ในกฎหมาย) (คำนาม) การอนุญาตที่รัฐให้แก่เอกชนเพื่อจัดทำบริการสาธารณะหรือจัดทำประโยชน์ หรือแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ภายในระยะเวลาและตามเงื่อนไขที่รัฐกำหนด เช่น สัมปทานการเดินรถประจำทาง สัมปทานทำไม้ในป่าสัมปทาน. (ป.).”
ปิฏก + สมฺปทาน = ปิฏกสมฺปทาน (ปิ-ตะ-กะ-สำ-ปะ-ทา-นะ) แปลว่า “การมอบให้แก่ตำรา” หรือ “การมอบให้แก่คัมภีร์” หมายถึง การมอบความน่าเชื่อถือ หรือมอบความไว้วางใจให้แก่ตำรา เรียกสั้นๆ ว่า “อ้างตำรา”
“ปิฏกสมฺปทาน” แจกด้วยวิภัตตินามที่สาม (ตติยาวิภัตติ) เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “ปิฏกสมฺปทาเนน” (ปิ-ตะ-กะ-สำ-ปะ-ทา-เน-นะ)
คัมภีร์อรรถกถาขยายความคำว่า “มา ปิฏกสมฺปทาเนน” ว่า “อมฺหากํ ปิฏกตนฺติยา สทฺธึ สเมตีติปิ มา คณฺหิตฺถ” (มโนรถปูรณี อรรถกถาอังคุตรนิกาย ภาค 2 หน้า 299)
แปลว่า: อย่าเชื่อถือโดยอ้างว่า-เรื่องนี้ตรงกันกับหลักในตำราของเรา
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [317] แปล “มา ปิฏกสมฺปทาเนน” เป็นไทยว่า “อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์” และแปลเป็นอังกฤษว่า Be not led by the authority of texts.
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปิฏกสมฺปทาเนน” ว่า according to the Piṭaka tradition or on the ground of the authority of the Piṭaka. (ตามที่ฟังมาจากปิฎก หรือเนื่องจากปิฎกบัญญัติไว้)
อภิปราย :
คนที่ฟังไม่ได้ศัพท์มักเอากาลามสูตรข้อนี้ไปพูดว่า “กาลามสูตรสอนไม่ให้เชื่อตำรา”
กาลามสูตรไม่ได้สอนไม่ให้เชื่อตำรา แต่สอนว่า-อย่าเชื่อโดยการอ้างตำรา หรือโดยการมอบความไว้วางใจให้แก่ตำรา
“เชื่อตำรา” กับ “เชื่อโดยการอ้างตำรา” มีความหมายต่างกัน
“เชื่อตำรา” ก็อย่างเช่น-เชื่อว่าตำราของมหาวิทยาลัยแห่งนี้เชื่อถือได้ (ถ้าเป็นตำราของมหาวิทยาลัยแห่งอื่นอาจเชื่อถือไม่ได้) ตำราของอาจารย์คนนี้เชื่อถือได้ (ถ้าเป็นตำราของอาจารย์คนอื่นอาจเชื่อถือไม่ได้) – นี่คือ “เชื่อตำรา”
ส่วน “เชื่อโดยการอ้างตำรา” หมายถึง ถ้าเรื่องนั้นๆ เป็นแต่เพียงมีคนพูดให้ฟังหรือบอกกันต่อๆ มา หรือแค่หนังสือพิมพ์ลงข่าวหรือวิทยุออกข่าว ก็จะไม่เชื่อหรอก แต่นี่มีเขียนไว้ในตำรา (จะเป็นตำราของสำนักไหนหรือใครเขียนก็ช่างเถิด) จึงต้องเชื่อ – นี่คือ “เชื่อโดยการอ้างตำรา” คือเชื่อโดยการมอบความไว้วางใจให้แก่ตำรา
กาลามาสูตรสอนไม่ให้เชื่อโดยการอ้างตำราแบบนี้ ทั้งนี้เพราะเรื่องที่เขียนไว้เป็นตำราไม่อาจรับประกันได้เสมอไปว่าถูกต้อง ตำราที่เขียนไว้ผิดๆ ก็มี
อนึ่ง พึงสังเกตว่า กาลามสูตรข้อนี้ท่านใช้คำว่า “ปิฎก” ซึ่งหมายถึงตำราหรือคัมภีร์ทั่วไป ไม่ใช่ “ไตรปิฎก” เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรเอาไปพูดเจาะจงว่า “กาลามสูตรสอนไม่ให้เชื่อพระไตรปิฎก” การพูดเช่นนี้ผิดพลาดถึง 2 ชั้น
(๑) “สอนไม่ให้เชื่อพระไตรปิฎก” ก็ผิดแล้ว ท่านว่า “ปิฎก” เอาไปพูดเป็น “ไตรปิฎก”
(๒) ท่านว่า “สอนไม่ให้เชื่อโดยอ้างปิฎก” เอาไปพูดเป็น “สอนไม่ให้เชื่อพระไตรปิฎก” ผิดความหมายและผิดความมุ่งหมาย กลายเป็นคนละเรื่องไป
ถ้าพูดว่า “สอนไม่ให้เชื่อโดยอ้างพระไตรปิฎก” ย่อมฟังได้ เพราะพระไตรปิฎกอยู่ในฐานะเป็น “ตำรา” ชนิดหนึ่งด้วยเช่นกัน หมายความว่า อย่าอ้างว่า “เพราะเรื่องนี้มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก จึงต้องเชื่อ”
ถ้าจะเชื่อ ต้องเชื่อเพราะได้พิจารณาด้วยสติปัญญาแล้วเห็นว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ไม่ใช่ว่า-เห็นเรื่องอะไรมีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกเป็นเชื่อหมด
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ตำราทำได้แค่บอกวิธี
: ชั่วดีเราต้องทำเอง
#บาลีวันละคำ (2,486)
3-4-62