คันธกุฎี (บาลีวันละคำ 1,546)
คันธกุฎี
อ่านว่า คัน-ทะ-กุ-ดี
ประกอบด้วย คันธ + กุฎี
(๑) “คันธ” (คัน-ทะ)
บาลีเขียน “คนฺธ” รากศัพท์มาจาก –
(1) คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ก ปัจจัย, แปลง คมฺ เป็น คนฺธ, ลบ ก
: คมฺ + ก = คมก > คนฺธก > คนฺธ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ไปในที่นั้นๆ ได้ด้วยลม” “สิ่งอันลมพัดพาไป”
(2) คนฺธฺ (ธาตุ = ประกาศ, ตัด) + อ ปัจจัย
: คนฺธ + อ = คนฺธ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ประกาศฐานะของตน” (2) “สิ่งที่ตัดความเหม็นด้วยความหอม ตัดความหอมด้วยความเหม็น”
“คนฺธ – คันธ-” หมายถึง กลิ่น, ของหอม (smell, perfume)
(๒) “กุฎี”
บาลีเป็น “กุฏิ” (กุ-ติ) (-ฏิ ฏ ปฏัก อนึ่ง ศัพท์นี้เป็น “กุฏี” ก็มี) รากศัพท์มาจาก กุฏฺ (ธาตุ = ตัด; อยู่อาศัย) + อิ ปัจจัย
: กุฏฺ + อิ = กุฏิ แปลตามศัพท์ว่า (1) “โรงเรือนที่ตัด” (คือตัดความกังวล เนื่องจากเป็นกระท่อมเล็กๆ ไม่ต้องบำรุงรักษามาก และไม่มีราคาค่างวด) (2) “โรงเรือนเป็นที่อยู่อาศัย”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กุฏิ” ว่า any single-roomed abode, a hut, cabin, cot, shed (ที่อาศัยที่มีห้องเดียว, กระท่อม, เพิง, สิ่งปลูกสร้างเล็กๆ สำหรับอาศัย)
ภาษาไทยเขียนทับศัพท์เป็น “กุฏิ” ออกเสียงว่า กุ-ติ ก็มี (คนเก่าๆ ออกเสียงตามสะดวกปากว่า กะ-ติ ก็มี) ออกเสียงว่า กุด ก็มี เปลี่ยน ฏ ปฏักเป็น ฎ ชฎา เขียนเป็น “กุฎี” (กุ-ดี) ก็มี แผลงเป็น “กระฎี” ก็มี
ความหมายที่เข้าใจกันในภาษาไทย “กุฏิ–กุฎี” ก็คือ “เรือนหรือตึกสําหรับพระภิกษุสามเณรอยู่”
คนฺธ + กุฏิ = คนฺธกุฏิ > คันธกุฎี
หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แสดง “รูปวิเคราะห์” (กระบวนการกระจายคำเพื่อหาความหมาย) ของศัพท์ “คันธกุฎี” ไว้ดังนี้ –
(1) ทิพฺพคนฺเธหิ ปริภาวิตา กุฏี > คนฺธกุฏี = “กุฎีที่อบอวลด้วยกลิ่นทิพย์”
(2) จตุชฺชาติเกน คนฺเธน ปริภาวิตา กุฏี > คนฺธกุฏี = “กุฎีที่อบอวลด้วยคันธชาติ ๔ ชนิด”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ไขความคำว่า “คนฺธกุฏี” ไว้ว่า –
a perfumed cabin, name of a room or hut occupied by the Buddha, esp. that made for him by Anāthapiṇḍika in Jetavana. (คันธกุฎี, ชื่อห้องหรือกระท่อมที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่, โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างไว้สำหรับพระองค์ในพระเชตวัน)
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต กล่าวถึงเรื่อง “คันธกุฎี” เก็บความที่ควรรู้ได้ดังนี้ –
คันธกุฎี : พระกุฎีที่ประทับของพระพุทธเจ้า, เป็นคำเรียกที่ใช้ทั่วไปในคัมภีร์ชั้นอรรถกถาลงมา แต่ในพระไตรปิฎก พบใช้เฉพาะในคัมภีร์อปทาน เพียง ๖ ครั้ง คัมภีร์อื่นทั่วไปในพระไตรปิฎก ไม่มีที่ใดเรียกที่ประทับของพระพุทธเจ้าในอดีตก็ตาม พระองค์ปัจจุบันก็ตาม ว่า “คันธกุฎี”
ในพระไตรปิฎกโดยทั่วไป แม้แต่ในพระสูตรทั้งหลาย ท่านกล่าวถึงที่ประทับของพระพุทธเจ้าเพียงแค่อ้างอิงสั้นๆ ว่า พระองค์ทรงแสดงธรรมครั้งนั้นเมื่อประทับอยู่ ณ ที่ใด เช่นว่า เมื่อประทับที่พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก เมืองสาวัตถี ดังนี้เป็นต้น น้อยนักจะระบุชื่ออาคารที่ประทับว่า “ประทับในพระคันธกุฎี”
คัมภีร์ชั้นอรรถกถาลงมา มีลักษณะที่เน้นการจรรโลงศรัทธาโดยอิงเรื่องวัตถุอลังการและย้ำการบำเพ็ญทาน นอกจากใช้คำว่า “คันธกุฎี” เป็นสามัญแล้วยังได้บรรยายเรื่องราวเกี่ยวกับพระคันธกุฎีไว้มากมาย เช่น เล่าเรื่องว่า ผู้มีทรัพย์คนหนึ่งได้สร้างพระคันธกุฎีถวายแด่พระวิปัสสีพุทธเจ้า เป็นอาคารที่งามสง่าอย่างยิ่ง เสา อิฐ ฝา บานหน้าต่าง เป็นต้น แพรวพราวด้วยรัตนะทั้ง ๗ มีสระโบกขรณี ๓ สระ ฯลฯ แล้วมาเกิดในพุทธกาลนี้ เป็นเศรษฐีชื่อว่าโชติกะ
และอีกเรื่องหนึ่งว่า บุรุษหนึ่งเกิดในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า ได้ฟังธรรมของพระองค์แล้ว เลื่อมใส นำเอาของหอมทั้ง ๔ ชาติมาไล้ทาพระคันธกุฎีเดือนละ ๘ วัน จากนั้น เกิดที่ใด ก็มีกลิ่นกายหอม จนกระทั่งมาสำเร็จอรหัตผลในพุทธกาลนี้
คัมภีร์ชั้นฎีกาแสดงความหมายของ “คันธกุฎี” ว่าเป็น “กุฎีซึ่งอบด้วยของหอม ๔ ชาติ” ของหอม ๔ ชาติ ได้แก่ จันทน์แดง ดอกไม้แคว้นโยนก กฤษณา และกำยาน หรือบางตำราว่า ดอกไม้แคว้นโยนก กฤษณา กำยาน และพิมเสน (ดอกไม้แคว้นโยนก คือ “ยวนะ” มักแปลกันว่า กานพลู)
“คันธกุฎี” ที่ประทับของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ที่กล่าวถึงในอรรถกถาและคัมภีร์รุ่นต่อมาทั้งหลาย โดยทั่วไปหมายถึงพระคันธกุฎีที่อนาถปิณฑิกเศรษฐีสร้างถวาย ที่วัดพระเชตวัน ในนครสาวัตถี ซึ่งเป็นวัดที่พระพุทธเจ้าประทับบำเพ็ญพุทธกิจยาวนานที่สุด ถึง ๑๙ พรรษา เป็นที่ตรัสพระสูตรและบัญญัติพระวินัยส่วนใหญ่ เฉพาะอย่างยิ่ง สิกขาบทที่เป็นส่วนเฉพาะของพระภิกษุณีแทบทั้งหมดทรงบัญญัติเมื่อประทับที่นี่
เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน มีพิธีถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระที่เมืองกุสินาราแล้ว และพระอรหันตเถระทั้งหลายนัดหมายกันว่าจะไปประชุมสังคายนาที่เมืองราชคฤห์ โดยต่างก็เดินทางไปสู่ที่หมายเดียวกันนั้น พระอานนท์ พุทธอุปัฏฐาก ได้ไปแวะที่เมืองสาวัตถี เพื่อเก็บกวาดจัดพระคันธกุฎีที่วัดพระเชตวัน อันเป็นบริโภคเจดีย์ที่ประจักษ์เด่นชัดเจนแก่พุทธบริษัททั้งปวง ให้เป็นพุทธคุณานุสรณสถาน อันสถิตดังครั้งเมื่อพระบรมศาสดายังดำรงพระชนม์อยู่ เสร็จแล้วจึงเดินทางสู่เมืองราชคฤห์ต่อไป
(ข้อนี้เป็นเนติแก่พุทธศาสนิกชนชั้นหลังที่เมื่อบุคคลที่ตนเคารพนับถือแม้ล่วงลับไปแล้วก็ยังนิยมปฏิบัติต่อสถานที่หรือสิ่งของที่ท่านเคยใช้สอยเสมือนหนึ่งว่าตัวท่านยังคงดำรงชีพอยู่ ดังปรากฏเรื่องเล่าว่า พระเถระรูปหนึ่งในสมัยรัตนโกสินทร์นี้เอง เมื่อพระอาจารย์ของท่านมรณภาพลง ท่านได้ขอเก้าอี้ที่พระอาจารย์เคยนั่งมาจัดที่ตั้งอันสมควรไว้ที่กุฏิ แล้วกราบไหว้เก้าอี้นั้นทุกวันเสมือนพระอาจารย์ของท่านยังนั่งอยู่ที่เก้าอี้ตัวนั้น)
คัมภีร์ทั้งหลายในชั้นต่อมาได้ใช้คำว่า “คันธกุฎี” เพียงในความหมายหลวมๆ คือ ไม่ว่าพระพุทธเจ้าประทับที่ไหน ท่านก็เรียกเป็นพระคันธกุฎีทั้งนั้น
ปัจจุบันนี้ พระคันธกุฎีอันเป็นโบราณสถานที่รู้จักกันและพุทธศาสนิกชนนิยมไปนมัสการมี ๓ แห่ง คือ (1) ที่ภูเขาคิชฌกูฏ เมืองราชคฤห์ (2) ที่สารนาถ เมืองพาราณสี และ (3) ที่พระเชตวัน เมืองสาวัตถี
…………..
: ห้องนอนสตรี
จะนับว่าหอมก็ด้วยกลิ่นเครื่องประเทืองกามราคะ
: ห้องนอนของสมณะ
จะนับว่าหอมก็ด้วยกลิ่นแห่งศีลสังวร
28-8-59