มุโขโลกนะ (บาลีวันละคำ 1,548)
มุโขโลกนะ
หน้าเก่าๆ ที่เรากำลังลืม
อ่านว่า มุ-โข-โล-กะ-นะ
ประกอบด้วย มุข + โอโลกนะ
(๑) “มุข”
บาลีอ่านว่า มุ-ขะ รากศัพท์มาจาก –
1) มุขฺ (ธาตุ = เปิด, ไป, เป็นไป) + อ ปัจจัย
: มุขฺ + อ = มุข แปลตามศัพท์ว่า (1) “อวัยวะอันเขาเปิดเผย” (2) “อวัยวะเป็นเครื่องเป็นไปแห่งประโยชน์สุข”
2) มุ (ธาตุ = ผูก) + ข ปัจจัย
: มุ + ข = มุข แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องผูก”
“มุข” หมายถึงอวัยวะ 2 อย่าง คือ ปาก (the mouth) และ หน้า (the face) จะหมายถึงอะไรต้องสังเกตที่บริบท
ในที่นี้ “มุข” หมายถึง หน้า (the face)
(๒) “โอโลกนะ”
บาลีเขียน “โอโลกน” อ่านว่า โอ-โล-กะ-นะ รากศัพท์มาจาก อว (อะ-วะ, คำอุปสรรค = ลง), แผลง อว เป็น โอ (จะว่าเป็น โอ โดยตรง ไม่ต้องแผลงมาจาก อว ก็ได้) + โลกฺ (ธาตุ = มอง, เห็น) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: อว > โอ + โลกฺ = โอโลกฺ + ยุ > อน = โอโลกน แปลตามศัพท์ว่า “การเห็นลง” “การมองลงมา” หมายถึง การมองดู, การเหลียวดู, การแลเห็น (looking, looking at, sight)
มุข + โอโลกน = มุโขโลกน > มุโขโลกนะ แปลตามศัพท์ว่า “การมองหน้า”
“มุโขโลกนะ” หมายถึง การมองหน้าเพื่อให้รู้ว่าผู้นั้นเป็นใคร ใช้ในกรณีที่มีการแต่งตั้งให้มีตำแหน่งฐานะ หรือคัดเลือกเพื่อให้ได้รับประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อมองหน้าและรู้ว่าเป็นผู้ที่ตนพอใจแล้วก็แต่งตั้งหรืออำนวยประโยชน์ให้แก่ผู้นั้น โดยไม่คำนึงถึงความรู้ ความสามารถ ความประพฤติ หรือคุณสมบัติอื่นใด
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มุโขโลกนะ : (คำวิเศษณ์) เห็นแก่หน้า, เห็นแก่พวก, เช่น เขาเป็นคนมุโขโลกนะ. (ป.).”
คำที่มีความหมายทำนองเดียวกันที่ พจน.54 เก็บไว้อีก เช่น –
(1) เห็นแก่หน้า : (คำกริยา) ลําเอียงในบุคคล, มุ่งเฉพาะคน.
(2) เล่นพรรคเล่นพวก, เล่นพวก, เล่นพวกเล่นพ้อง : (คำกริยา) ถือพวกพ้องเป็นใหญ่หรือสำคัญ.
“มุโขโลกนะ” เป็นการกระทำแบบเดียวกับที่เรียกว่า “อคติ” หรือลำเอียงนั่นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งลำเอียงชนิด “ฉันทาคติ” คือลำเอียงเพราะชอบพอกันเป็นส่วนตัว
“มุโขโลกนะ” เป็นคำที่คนเก่าๆ ยังใช้พูดกันอยู่ แต่คนรุ่นใหม่น่าจะไม่รู้จักเสียแล้ว
…………..
: เห็นแก่ธรรม ไม่เสียหน้า
: แต่ถ้าเห็นแก่หน้า เสียธรรม
30-8-59