อัศวิน (บาลีวันละคำ 1,549)
อัศวิน
อ่านว่า อัด-สะ-วิน
“อัศวิน” เป็นรูปคำสันสกฤต “อศฺวินฺ” เทียบเป็นบาลีตรงกับ “อสฺสี” (อัด-สี)
“อสฺสี” ประกอบด้วย อสฺส + อี ปัจจัย
“อสฺส” (อัด-สะ) รากศัพท์มาจาก –
1) อสฺ (ธาตุ = กิน; ซัด, ขว้าง) + อ ปัจจัย, ซ้อน สฺ ระหว่างธาตุกับปัจจัย
: อสฺ + สฺ + อ = อสฺส แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้กินเนืองๆ” (2) “ผู้ทิ้งไป” (คือวิ่งแซงสัตว์อื่นไป)
2) น (ไม่, ไม่ใช่) + สี (ธาตุ = นอน) + อ ปัจจัย, แปลง น เป็น อ, “ลบสระหน้า” (คือ สี + อ, สี อยู่หน้า อ อยู่หลัง, “ลบสระหน้า” คือลบ อี ที่ สี : สี > ส), ซ้อน สฺ ระหว่างบทหน้ากับธาตุ (น [ > อ] + สฺ + สี)
: น > อ + สฺ + สี = อสฺสี > อสฺส + อ = อสฺส แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ไม่นอน”
“อสฺส” หมายถึง ม้า (a horse)
ข้อสังเกต :
ตามคำแปลตามศัพท์ แสดงธรรมชาติของม้า 3 อย่างคือ (1) ม้าเป็นสัตว์ที่กินตลอดเวลา (2) ม้าเป็นสัตว์วิ่งได้เร็ว (3) ม้าเป็นสัตว์ที่ไม่นอน
อสฺส + อี = อสฺสี แปลตามศัพท์ว่า (ม้าของผู้นั้นมีอยู่ เหตุนั้น ผู้นั้นจึงชื่อว่า) “ผู้มีม้า”
หมายความว่า เห็นผู้นั้นที่ไหน ต้องเห็นม้าของเขาด้วย เขากับม้าจึงมีอยู่คู่กัน และม้าย่อมเป็นพาหนะสำหรับขี่ คำว่า “ผู้มีม้า” จึงหมายถึง “ผู้ขี่ม้า” นั่นเอง
คำเทียบพอให้เห็นหลักการกลายรูป :
“ศิลปะ”
บาลี : สิปฺป
สันสกฤต : ศิลฺป
“ศิลปิน” (ผู้มีศิลปะ)
บาลี : สิปฺป > สิปฺปี
สันสกฤต : ศิลฺป > ศิลฺปินฺ
“ม้า”
บาลี : อสฺส
สันสกฤต : อศฺว
“อัศวิน” (ผู้มีม้า = ผู้ขี่ม้า)
บาลี : อสฺส > อสฺสี
สันสกฤต : อศฺว > อศฺวินฺ
ดังนั้น : อสฺส > อศฺว > อศฺวินฺ > อัศวิน จึงหมายถึง ผู้ขี่ม้า
“อัศวิน” ถ้าแปลเป็นอังกฤษ เราก็ต้องนึกถึงคำว่า knight
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล knight ในความหมายแรกว่า ตัวม้าในหมากรุก
เข้าใจว่าเพราะความหมายนี้เอง เราจึงบัญญัติคำว่า “อัศวิน” เป็นความหมายของ knight
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล knight เป็นบาลีว่า –
(1) vīruttama วีรุตฺตม (วี-รุด-ตะ-มะ) = สุดยอดผู้กล้าหาญ
(2) mahāyodha มหาโยธ (มะ-หา-โย-ทะ) = นักรบผู้ยิ่งใหญ่
โปรดสังเกตว่า คำแปล knight เป็นบาลีไม่มีศัพท์ที่หมายถึง “ม้า”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อัศวิน : (คำนาม) นักรบขี่ม้า, นักรบที่กล้าหาญ, ผู้ที่ได้รับยกย่องว่าเป็นคนเก่ง; ชื่อเทวดาคู่หนึ่งซึ่งทรงรถนําหน้ารถพระอาทิตย์มาก่อนเวลารุ่งสาง เป็นบิดาของนกุลและสหเทพในมหากาพย์เรื่องมหาภารตะ. (ส.).”
เมื่อพูดถึง “อัศวิน” เรามักนึกไปถึงคำว่า “อัศวินม้าขาว” ซึ่งเป็นสำนวนหมายถึงผู้ที่มาช่วยแก้ไขสถานการณ์ที่คับขันให้คลี่คลายลง
สำนวน “อัศวินม้าขาว” มาจากคติความเชื่อทางศาสนาที่ว่า เมื่อถึงยุคเสื่อม มนุษย์จะประพฤติชั่วช้าเลวทรามก่อให้เกิดความเดือดร้อนทั่วไป เมื่อเดือดร้อนถึงที่สุดก็จะมีผู้มีบุญมาเกิด ผู้มีบุญนั้นจะขี่ม้าขาวมาปราบยุคเข็ญให้โลกกลับร่มเย็นเป็นสุขขึ้นอีกวาระหนึ่ง
ด้วยคติความเชื่อเช่นนี้ เมื่อเกิดมีปัญหาแล้วมีผู้เข้ามาช่วยแก้ไขให้ลุล่วงไปได้ จึงเรียกผู้ที่มาช่วยแก้ปัญหานั้นว่า “อัศวินม้าขาว” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “อัศวิน” ก็เป็นอันรู้กัน
…………….
: ประพฤติธรรมเป็นอาจิณ
ไม่ต้องรอให้อัศวินมาช่วยแก้ปัญหา
: ประพฤติชั่วเป็นอาจิณ
ต่อให้ร้อยอัศวินก็สิ้นปัญญา
31-8-59