บาลีวันละคำ

อุภโตสุชาตสังสุทธเคราะหณี (บาลีวันละคำ 987)

อุภโตสุชาตสังสุทธเคราะหณี

มีความหมายว่าอย่างไร

———————-

ข้อมูล

———–

พระปรมาภิไธยรัชกาลต่างๆ

(คัดมาเฉพาะที่ประสงค์)

รัชกาลที่ ๔ :

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฏสุทธิ สมมุติเทพยพงศวงศาดิศรกษัตริย์ วรขัตติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาตสังสุทธเคราะหณี จักรีบรมนาถ ฯลฯ

รัชกาลที่ ๕ :

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามงกุฏ บุรุษรัตนราชรวิวงศ์ วรุฒมพงษ์บรพัตร วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาตสังสุทธเคราะหณี จักรีบรมนาถ ฯลฯ

รัชกาลที่ ๖ :

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิรวุธ เอกอรรคมหาบุรุษบรมนราธิราช พินิตประชานาถมหาสมมตวงศ์ อดิศัยพงศ์วิมลรัตน์ วรขัตติราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาตสังสุทธเคราะหณี จักรีบรมนาถ ฯลฯ

รัชกาลที่ ๗ :

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก มหันตเดชนดิลกรามาธิบดี เทพยปรียามหาราชรวิวงศ์ อสัมภินพงศพีระกษัตร บุรุษรัตนราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาตสังสุทธเคราะหณี จักรีบรมนาถ ฯลฯ

———–

คำที่ตรงกันทุกรัชกาลคือ “อุภโตสุชาตสังสุทธเคราะหณี

อ่านตามหลักภาษาว่า อุ-พะ-โต-สุ-ชาด-ตะ-สัง-สุด-ทะ-เคฺราะ-หะ-นี

(ฤๅบางทีอาลักษณ์อาจจะอ่านว่า อุ-พะ-โต-สุ-ชาด-สัง-สุด-เคฺราะ-หะ-นี)

ประกอบด้วย อุภโต + สุชาต + สังสุทธ + เคราะหณี

(๑) “อุภโต” (อุ-พะ-โต)

มาจาก อุภ (สอง) + โต ปัจจัย (โดย, ตาม, ข้าง)

: อุภ + โต = อุภโต แปลว่า ทั้งสอง, สองอย่าง, ทั้งสองทาง, ทั้งสองข้าง (both, twofold, in both (or two) ways, on both sides)

(๒) “สุชาต

บาลีอ่านว่า สุ-ชา-ตะ มาจาก สุ (ดี, งาม, ง่าย) + ชาต (เกิดแล้ว)

: สุ + ชาต = สุชาต แปลว่า ผู้เกิดดี หรือเกิดมาเป็นผู้ดี (one who is well born)

อุภโต + สุชาต = อุภโตสุชาต มีความหมายว่า เกิดมาจากบิดาและมารดาที่ดีทั้งสองฝ่าย เช่น บิดาอยู่ในตระกูลกษัตริย์ มารดาก็อยู่ในตระกูลกษัตริย์ บุตรที่เกิดมาก็ได้ชื่อว่า “อุภโตสุชาต” = เกิดมาดีทั้งสองฝ่าย

(๓) “สังสุทธ

บาลีเป็น “สํสุทฺธ” (สัง-สุด-ทะ) มาจาก สํ (พร้อม, ถ้วน, ครบ) + สุทฺธ (สะอาด, บริสุทธิ์)

คำนี้เมื่อใช้ในภาษาไทย สํ– เปลี่ยนรูปเป็น สัง– (เมื่อนำหน้าคำอื่น อาจเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น เช่น สัม-, สัน– หรือ สัญ– เป็นต้น)

: สํ + สุทฺธ = สํสุทฺธ > สังสุทธ แปลว่า บริสุทธิ์สะอาดอย่างแท้จริง (real clean, real pure)

(๔) “เคราะหณี

เป็นคำที่เขียนอิงสันสกฤต คือ “คฺรหณี” บาลีเป็น “คหณี” (คะ-หะ-นี) รากศัพท์มาจาก คหฺ (ธาตุ = ถือเอา, จับ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน, เป็น + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: คห + ยุ > อน = คหน > คหณ + อี = คหณี แปลตามศัพท์ว่า “ผู้จับ” (the seizer) หรือ “อวัยวะที่รองรับครรภ์ไว้” ก็คือ ครรภ์ (a womb) นั่นเอง

สํสุทฺธ + คหณี = สํสุทฺธคหณี > สังสุทธเคราะหณี มีความหมายว่า มาจากครรภ์อันสะอาด, มีกำพืดที่แท้หรือบริสุทธิ์ (coming from a clean womb, of pure descent)

อุภโตสุชาต + สังสุทธเคราะหณี = อุภโตสุชาตสังสุทธเคราะหณี มีความหมายว่า มีกำเนิดที่บริสุทธิ์สะอาด คือเกิดมาจากบิดาและมารดาที่ดีทั้งสองฝ่าย

ความรู้ :

(๑) ในคัมภีร์พบสำนวนว่า –

อิธ  โภ  โคตม  พฺราหฺมโณ  อุภโต  สุชาโต  โหติ  มาติโต  จ  ปิติโต  จ  สํสุทฺธคหณิโก  ยาว  สตฺตมา  ปิตามหยุคา  อกฺขิตฺโต  อนุปกฺกุฏฺโฐ  ชาติวาเทน.

: ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พราหมณ์ในโลกนี้ เป็นอุภโตสุชาต ข้างฝ่ายมารดาและบิดา มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิสะอาดดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านติเตียนได้ด้วยอ้างถึงชาติกำเนิด.

อุภโต  สุชาโตสํสุทฺธคหณิโก นี่เองคือที่มาของคำว่า “อุภโตสุชาตสังสุทธเคราะหณี

(๒) คำในภาไทยที่พบว่าเขียนแตกต่างกัน คือ “-สุชาต-” บางแห่งสะกดเป็น “สุชาติ” (มีสระ อิ ที่ ) และ “-สังสุทธ-” บางแห่งสะกดเป็น “-สังสุทธิ-” (มีสระ อิ ที่ )

“-สุชาต-” หมายถึง “ผู้เกิด-” เล็งที่ตัวบุคคล

“-สุชาติ-” หมายถึง “การเกิด-” เล็งที่สภาวะหรืออาการกิริยา

“-สังสุทธ-” หมายถึง “ผู้บริสุทธิ์-” เล็งที่ตัวบุคคล

“-สังสุทธิ-” หมายถึง “ความบริสุทธิ์-” เล็งที่สภาวะหรืออาการกิริยา

(๓) เทียบกับคำในคัมภีร์ จะเห็นได้ว่าข้อความในวรรคนี้นำมาจากสำนวนในคัมภีร์ (ตามข้อ (๑) ข้างต้น) นั่นเอง ดังนั้น “-สุชาต-” และ “-สังสุทธ-” (ไม่มีสระ อิ) จึงควรเป็นการสะกดที่ถูกต้อง

บริสุทธิ์วิเศษ :

บริสุทธิ์เพราะกิเลสทำให้เกิด : ประเสริฐทางโลก

บริสุทธิ์เพราะสิ้นกิเลส : วิเศษทางธรรม

———————–

เบื้องหลังการถ่ายทำ :

———————–

Tatae AhHa : อ.ครับ ผมอยากรบกวน อ.อธิบายความหมายของคำว่า “อุภโตสุชาติสังสุทธิเคราะหณี” ครับผม ขอรบกวนด้วยนะครับ

นาวาเอกทองย้อย : ได้คำนี้มาจากไหนครับ

Tatae AhHa : จากพระนามเต็มของรัชกาลก่อนๆ ครับผม

#บาลีวันละคำ (987)

30-1-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *