บาลีวันละคำ

เศวตามพร (บาลีวันละคำ 1,552)

เศวตามพร

อ่านอย่างไร แปลว่าอะไร

ผู้เขียนบาลีวันละคำได้ยินเสียงอ่านนามสกุลของท่านผู้หนึ่ง ผู้อ่านออกเสียงว่า เส-วะ-ตา-พอน นึกสงสัยว่าคำนี้สะกดอย่างไร เมื่อค้นดูจึงได้พบคำว่า “เศวตาภรณ์” ทำให้นึกถึงคำว่า “เศวตามพร

เศวตามพร” เป็นรูปคำสันสกฤต ตรงกับบาลีว่า “เสตมฺพร

เสตมฺพร” อ่านว่า เส-ตำ-พะ-ระ ประกอบด้วย เสต + อมฺพร

(๑) “เสต” (เส-ตะ) รากศัพท์มาจาก สิ (ธาตุ = เสพ, ชอบ) + ปัจจัย, แผลง อิ ที่ สิ เป็น เอ (สิ > เส)

: สิ + = สิต > เสต แปลตามศัพท์ว่า “สีอันคนชอบ” หมายถึง สีขาว, สิ่งที่เป็นสีขาว (white)

(๒) “อมฺพร” (อำ-พะ-ระ) รากศัพท์มาจาก อมฺพฺ (ธาตุ = ส่งเสียง) + อร ปัจจัย

: อมฺพ + อร = อมฺพร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันผู้คนส่งเสียงทัก” (คือถามราคาหรือชมว่าสวยงาม) หมายถึง ผ้า, เครื่องนุ่งห่ม

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อมฺพร” ว่า some sort of cloth and an (upper) garment made of it (ผ้าบางชนิด และผ้าสำหรับส่วนบนที่ทำจากผ้าชนิดนั้น)

เสต + อมฺพร = เสตมฺพร แปลว่า ผ้าสีขาว, ผู้นุ่งห่มผ้าสีขาว

เสต” สันสกฤตเป็น “เศฺวต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

เศฺวต : (คำคุณศัพท์) ‘เศวต,’ ขาว, เผือก; white; – (คำนาม) สีขาว; white colour.”

คำว่า “เศฺวต” ในสันสกฤต ใช้ในภาษาไทยเป็น “เศวต

โปรดสังเกตว่า “เศฺวต” เขียนแบบสันสกฤต มีจุดใต้ ศฺ ศาลา นั่นคือ ศฺว อ่านควบกัน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เศวต, เศวต– [สะเหฺวด, สะเหฺวดตะ-] : (คำนาม) สีขาว. (ส.; ป. เสต).”

ดูคำอ่านที่ พจนานุกรมฯ บอกไว้ จะเห็นได้ชัด คืออ่านว่า สะ-เหฺวด ไม่ใช่ เส-วะ-ตะ

ดังนั้น “เศวตามพร” จึงต้องอ่านว่า สะ-เหฺว-ตาม-พอน ไม่ใช่ เส-วะ-ตาม-พอน

เศวตามพร” เป็น “เศวตัมพร” อีกรูปหนึ่ง

พจน.54 บอกไว้ดังนี้ –

เศวตัมพร, เศวตามพร [สะเหฺวตําพอน, -ตามพอน] : (คำนาม) ชื่อนิกายในศาสนาเชนหรือเดียรถีย์นิครนถ์ นักบวชนิกายนี้ประพฤติตนเป็นผู้นุ่งห่มผ้าขาว, คู่กับ นิกายทิคัมพร. (ส. เศฺวต ว่า ขาว +อมฺพร ว่า เครื่องนุ่งห่ม).”

สรุปว่า คำรูปนี้อ่านว่า สะ-เหฺว- (คำอ่านมีจุดใต้ หฺ หมายความว่า หฺว ควบสระ เอ คือ -เว เสียงจัตวา ไม่ใช่ ห-เอ-ว = เหว : ช่องลึกลงไปในภูเขา)

เคยเห็นนามสกุลของบางท่านเขียน “เศวตามร” มีผู้อ่านว่า เส-วะ-ตา-มอน และคำที่ขึ้นต้นด้วย “เศวตา-” อีกหลายคำ ก็มักอ่านกันว่า เส-วะ-ตา- ตลอดจนที่ถอดเป็นอักษรโรมันก็สะกดเป็น SAEWATAPORN เป็นการยืนยันว่าให้อ่าน เส-วะ-ตา-

ถ้าคำนี้มาจากคำบาลี “เสต-” และสันสกฤตเป็น “เศฺวต-” อ่านว่า เส-วะ-ตา- ก็ผิด ต้องอ่านว่า สะ-เหฺว-ตา- จึงจะถูกต้อง

แต่ในเมื่ออ่านผิดเช่นนั้นมานานนักหนา จนกระทั่งเจ้าของนามสกุลเองก็อ่านเช่นนั้นไปแล้ว ก็ต้องถือว่าเลยตามเลย คือแม้จะผิดก็ต้องถือว่าถูกไปแล้ว

เช่นเดียวกับคำว่า “ไศล” (เขาหิน) ซึ่งที่ถูกจะต้องอ่านว่า ไส-ละ แต่ก็อ่านผิดว่า สะ-ไหฺล กันทั่วไป จนกระทั่งพจนานุกรมฯ ก็ต้องยอมรับว่า สะ-ไหฺล เป็นคำอ่านที่ถูกต้องไปแล้ว

จะเห็นได้ว่า ภาษาเป็นสิ่งสมมุติจริงๆ คือแม้ผิดก็สมมุติให้ถูกได้

……………

: กรรม ต้องทำให้บริสุทธิ์

: เพราะทำผิดแล้วจะสมมุติให้เป็นถูกไม่ได้

3-9-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย