บาลีวันละคำ

เศวต -เสวก (บาลีวันละคำ 1,553)

เศวตเสวก

เหตุที่มีผู้อ่าน “เสวก” ว่า สะ-เหฺวก

เศวต” เป็นรูปคำสันสกฤตว่า “เศฺวต” (โปรดสังเกต มีจุดใต้ ศฺ นั่นคือ ศฺว อ่านควบกัน)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

เศฺวต : (คำคุณศัพท์) ‘เศวต,’ ขาว, เผือก; white; – (คำนาม) สีขาว; white colour.”

เศฺวต” ในภาษาไทยเขียนเป็น “เศวต” (ไม่มีจุดใต้ )

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เศวต, เศวต– [สะเหฺวด, สะเหฺวดตะ-] : (คำนาม) สีขาว. (ส.; ป. เสต).”

ตามพจนานุกรมฯ “เศวต” อ่านว่า สะ-เหฺวด ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย อ่านว่า สะ-เหฺวด-ตะ- เช่น “เศวตฉัตร” อ่านว่า สะ-เหฺวด-ตะ-ฉัด (ไม่ใช่ สะ-เหฺวด-ฉัด)

ในบทกลอน เมื่อต้องการให้มีเสียงรับสัมผัส กวีจึงแปลงเสียง สะ-เหฺวด เป็น สะ-เหฺวก เช่นในเรื่องพระอภัยมณี มีกลอนตอนหนึ่งว่า

……………………………

……………………………

……………………………

พระภูธรออกนั่งยังพระโรง

สถิตแท่นอดิเรกเศวกฉัตร

เนาวรัตน์บัลลังก์ที่นั่งโถง

……………………………

……………………………

(พระอภัยมณี ฉบับพิมพ์ภาคจบบริบูรณ์

ตอนที่ ๑๒๐ สุดสาครกลับเมืองลังกา)

……….

คำว่า “เศวกฉัตร” (อ่านว่า สะ-เหฺวก-กะ-ฉัด) คำเดิมก็คือ “เศวตฉัตร” นั่นเอง แต่เพื่อต้องการจะให้รับสัมผัสกับคำว่า …อดิเรก… กวีจึงแก้ “เศวต..” เป็น “เศวก..” ( ..อดิเรก..กับ ..เศวก..เสียงรับกัน)

ผู้รู้ท่านว่า เพราะ “เศวต..” (สะ-เหฺวด-) กลายเป็น “เศวก..” (สะ-เหฺวก-) นี่เอง เมื่อคนทั้งหลายเห็นคำว่า “เสวก” จึงไม่รั้งรอที่จะอ่านว่า สะ-เหฺวก ทันที

อนึ่ง มีคำเทียบอีกคำหนึ่ง คือ “เอนก” ซึ่งเป็นคำที่เขียนผิดมาจาก “อเนก

เมื่อ “เอนก” (ย้ำ-เขียนผิด) อ่านว่า อะ-เหฺนก ก็จึงแน่ใจยิ่งขึ้นว่า “เสวก” ต้องอ่านว่า สะ-เหฺวก โดยปราศจากข้อสงสัย :

เอนก” อ่านว่า อะ-เหฺนก

เสวก” อ่านว่า สะ-เหฺวก

คำที่สะกดว่า “เสวก” บาลีอ่านว่า เส-วะ-กะ รากศัพท์มาจาก เสวฺ (ธาตุ = คบหา, เสพ) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น “อก” (อะ-กะ)

: เสว + ณฺวุ > อก = เสวก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เสพคุ้น” (คือสนิทสนมใกล้ชิดพระราชา)

เสว” (เส-วะ) คำกริยาเป็น “เสวติ” (เส-วะ-ติ) มีความหมายว่า รับใช้, คบหาสมาคม, ซ่องเสพ, หันไปหา (to serve, associate with, resort to)

คำอังกฤษว่า serve ก็คือที่เราพูดทับศัพท์ว่า “เสิร์ฟ” หรือที่คำไทยพูดว่า “บริการ” นั่นเอง

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เสวก” ว่า serving, following; a servant, dependent (เสวก, สาวก; ผู้รับใช้, ผู้พึ่งพาอาศัย)

ในภาษาไทย “เสวก” อ่านว่า เส-วก (ไม่ใช่ สะ-เหฺวก) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เสวก : (คำนาม) ข้าราชการในราชสำนัก. (ป.; ส. เสวก ว่า คนใช้).”

ในภาษาบาลี คำว่า “เสวก” ใช้ในฐานะ 2 อย่าง คือ –

(1) คนรับใช้ประจำตัว

(2) ข้าราชบริพาร หรือข้าราชสำนัก ในความหมายว่า “ผู้ใกล้ชิดพระราชา”

ในคัมภีร์อรรถกถาจัด “เสวก” ไว้ในกลุ่ม “ราชภัฏ

ราชภัฏ” คือบุคคลที่เรียกว่า “ข้าราชการ” แต่ “เสวก” หมายเอาเฉพาะข้าราชการที่เป็นข้าราชบริพาร หรือข้าราชสำนักเท่านั้น

คำว่า “เสวก” ในภาษาไทยใช้ประกอบยศข้าราชการในพระราชสำนักสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เช่น

– มหาเสวกตรี พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร)

– มหาเสวกเอก พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์)

ผู้เขียนบาลีวันละคำเคยได้ยินผู้ประกาศบางท่านทางสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ออกเสียงยศ “มหาเสวกตรี” ว่า มะ-หา-สะ-เหฺวก-ตฺรี อย่างเต็มปากเต็มคำ!

ปัญหา :

ผู้ที่มีชื่อเขียนว่า “เสวก” มีปัญหาว่า ต้องการให้มีความหมายอย่างไร และจะให้อ่านอย่างไร

ถ้าต้องการให้มีความหมายว่า white แต่ให้อ่านว่า เส-วก ก็ผิด

ถ้าต้องการให้มีความหมายว่า serving แต่ให้อ่านว่า สะ-เหฺวก ก็ผิด

………….

: ทำผิดเพราะไม่รู้ ถือว่าบกพร่องโดยสุจริต

: แต่รู้แล้วยังทำผิด คือทุจริตโดยตรง

—————

(อันเนื่องมาจากคำปรารภของ อนุสรณ์ มีสุข)

4-9-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย