บาลีวันละคำ

พรหมลิขิต (บาลีวันละคำ 1,555)

พรหมลิขิต

อ่านว่า พฺรม-มะ-ลิ-ขิด ก็ได้

อ่านว่า พฺรม-ลิ-ขิด ก็ได้

(ตาม พจน.54)

ประกอบด้วย พรหม + ลิขิต

(๑) “พฺรหฺม” รากศัพท์มาจาก พฺรหฺ (ธาตุ = เจริญ, ประเสริฐ) + ปัจจัย

: พฺรหฺ + = พฺรหฺม แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เจริญด้วยคุณ” ใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ความดีประเสริฐสุด (the supreme good)

(2) คัมภีร์พระเวท, สูตรลึกลับ, คาถา, คำสวดมนต์ (Vedic text, mystic formula, prayer)

(3) เทพผู้ยิ่งใหญ่ในศาสนาพราหมณ์ ถือกันว่าเป็นผู้สร้างจักรวาล (the god Brahmā chief of the gods, often represented as the creator of the Universe)

(4) เทวดาพวกหนึ่งที่อยู่บนสรวงสวรรค์ชั้นสูงที่เรียกว่า พรหมโลก (a brahma god, a happy & blameless celestial being, an inhabitant of the higher heavens [brahma-loka])

(5) สิ่งศักดิ์สิทธิ์, คนศักดิ์สิทธิ์ (holy, pious, a holy person)

ในแง่ตัวบุคคล คำว่า “พรหม” หมายถึง –

(1) เทพสูงสุดหรือพระผู้เป็นเจ้าในศาสนาพราหมณ์

(2) เทพในพรหมโลก เป็นผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยกาม มี 2 พวกคือ รูปพรหม มี 16 ชั้น อรูปพรหม มี 4 ชั้น

(3) ผู้ประเสริฐด้วยคุณธรรม 4 ประการ คือ เมตตา (ปรารถนาให้อยู่เป็นปกติสุข) กรุณา (ตั้งใจช่วยเพื่อให้พ้นจากปัญหา) มุทิตา (ยินดีด้วยเมื่อมีสุขสมหวัง) อุเบกขา (วางอารมณ์เป็นกลางเมื่อได้ทำหน้าที่ถูกต้องครบถ้วนแล้ว)

คำว่า “พฺรหฺม” ออกเสียงอย่างไร ?

ลองออกเสียงว่า พะ-ระ-หะ-มะ ช้าๆ แล้วค่อยๆ เร่งให้เร็วขึ้น จะได้เสียงที่ถูกต้องของคำว่า “พฺรหฺม” ในบาลี

แต่โดยทั่วไป นักเรียนบาลีในเมืองไทยออกเสียงว่า พรม-มะ หรือ พรำ-มะ

(๒) “ลิขิต

บาลีอ่านว่า ลิ-ขิ-ตะ รากศัพท์มาจาก ลิขฺ (ธาตุ = เขียน) + อิ อาคม + ปัจจัย

: ลิขฺ + อิ + = ลิขิต แปลตามศัพท์ว่า “อันเขาเขียนแล้ว” (อักษรหรือข้อความที่ถูกเขียนขึ้น)

ลิขิต” ในภาษาไทยอ่านว่า ลิ-ขิด พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

ลิขิต : (คำนาม) หนังสือ, จดหมาย, (นิยมใช้เฉพาะจดหมายของพระสงฆ์). (คำกริยา) เขียน, กำหนด, เช่น พระพรหมได้ลิขิตชีวิตไว้แล้ว. (ป., ส.).”

พรหม + ลิขิต = พรหมลิขิต

ในแง่ภาษา “พรหมลิขิต” แปลได้ 2 แบบ คือ –

(1) เป็นคุณศัพท์ แปลว่า “อันพรหมเขียนไว้แล้ว” เช่น ชีวิตมนุษย์เป็นพรหมลิขิต คือเป็นสิ่งที่พรหมเขียนไว้ คือพรหมกำหนดไว้เรียบร้อยแล้วว่าจะเป็นไปอย่างไร

(2) เป็นประโยค (ในภาษาไทย) “พรหม” เป็นประธาน “ลิขิต” เป็นกริยา แปลว่า “พรหมเขียน

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

พรหมลิขิต : (คำนาม) อํานาจที่กําหนดความเป็นไปของชีวิต (ถือกันว่า พระพรหมเขียนไว้ที่หน้าผากของเด็กซึ่งเกิดได้ ๖ วัน). (ส.).”

อภิปราย :

๑ “พรหมลิขิต” ตามความหมายที่เข้าใจกันและเชื่อกัน มีมูลมาจากอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ที่เชื่อว่า สรรพสิ่งในจักรวาล “พรหม” เป็นผู้สร้างขึ้น ดังนั้น ชีวิตของมนุษย์และสรรพสิ่งย่อมเป็นไปตามที่พรหมจะเป็นผู้กำหนด ไม่มีใครขัดขืนหรือฝ่าฝืนได้

๒ ระยะต่อมา มีผู้ถือหลักพระพุทธศาสนาคิดคำว่า “กรรมลิขิต” ขึ้นมาเทียบ โดยอธิบายว่า วิถีชีวิตของมนุษย์จะเป็นไปอย่างไรไม่ใช่เพราะอำนาจการบันดาลของผู้วิเศษที่ไหน หากแต่ย่อมเป็นไปตาม “กรรม” คือการกระทำของตัวมนุษย์เอง ต้องการให้ผลเป็นอย่างไร ก็ทำเหตุให้สมแก่ผล ตามกฎแห่งเหตุผล หรือที่เรียกว่า “กฎแห่งกรรม”

………….

: ถ้ายกให้พรหมลิขิต ก็ไม่ต้องคิดทำอะไร

: ถ้ายกให้กรรมลิขิต ก็สามารถกำหนดวิถีชีวิตได้ดังใจ

6-9-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย