บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ความไม่รู้เรื่องพระพุทธศาสนา

ความไม่รู้เรื่องพระพุทธศาสนา

———————————

……………

—————————————————————–

และความเชื่อห้ามโดนตัวผู้หญิง ก็เป็นความเชื่อส่วนบุคคลอยู่ดี ไม่ควรที่จะต้องไปบังคับคนอื่นให้ทำตามด้วย หรือต้อง(บังคับ)เสียสละเพื่อให้คุณไปสู่นิพพาน

——————————————————————

ข้างต้นนี้เป็นข้อความที่มีท่านผู้หนึ่งเขียนเผยแพร่ทางสื่อโซเชียลมีเดีย ข้อความเต็มๆ ปรากฏในภาพถ่ายที่นำมาประกอบเรื่องในวันนี้

ผมได้คัดลอกข้อความในภาพออกมาเพื่อความสะดวกในการอ่าน ดังต่อไปนี้ (โปรดตรวจสอบกับข้อความในภาพด้วย)

———-

…………

สวัสดีค่ะ ดิฉันได้เห็นกระทู้หนึ่งถามเรื่องการให้สิทธิพระขึ้นเครื่องบินก่อน แต่ไม่ทันได้อ่านเนื้อหาด้านใน ก็ถูกลบไปแล้ว (เว็บมาสเตอร์ที่นี่ขึ้นชื่อเรื่องความวิตกจริต)

อย่างก็ตาม จะจริงหรือไม่ไม่ทราบ แต่ก็เห็นได้จากขนส่งสาธารณะทั่วไปในประเทศไทย เช่น…

– ที่นั่งพิเศษสำหรับพระ

– ผู้หญิง/ผู้ชายบางคนถูกพนักงานในรถให้ย้ายที่ เพื่ออำนวยความสะดวกที่นั่งให้แก่พระภิกษุ

หลายท่านอาจไม่รู้สึกผิดปกติอะไร ย่อมไม่แปลกเพราะเราถูกสั่งสอนและใช้ชีวิตแบบนั้นมานานนัก แต่ดิฉันคิดว่าถึงเวลาที่เราควรตั้งคำถามว่า สังคมในยุค ๒๕๕๘ ในยุคศตวรรษที่ ๒๑ มีเหตุผลอะไรที่เราต้องให้อภิสิทธิ์นักบวชในศาสนาหนึ่งขนาดนี้?

(อันนี้จะขอแค่ประเด็นการใช้ขนส่งสาธารณะก่อน)

๑. ดิฉันคิดว่าประเทศไทยไม่ใช่รัฐศาสนา และเราเป็นสังคมที่มีความหลากหลายทางความเชื่อ รวมถึงคนไม่มีศาสนา การให้อภิสิทธิ์แก่กลุ่มบุคคลเพียงศาสนาใด เป็นการเลือกปฏิบัติ

๒. ศาสนาเป็นเรื่องส่วนบุคคล ก็ไม่ควรกระทบต่อผู้อื่น ซึ่งกรณีพระมันต่างอะไรกับการชี้นิ้วบอกผู้ชายว่าเธอต้องลุกให้ผู้หญิงนั่งนะ? มันต่างอะไรกับที่แปะป้ายว่า นี่ที่นั่งคนขาว?

และความเชื่อห้ามโดนตัวผู้หญิง ก็เป็นความเชื่อส่วนบุคคลอยู่ดี ไม่ควรที่จะต้องไปบังคับคนอื่นให้ทำตามด้วย หรือต้อง(บังคับ)เสียสละเพื่อให้คุณไปสู่นิพพาน

หลายคนอาจบอกว่าฉันยังทำได้เลย ไม่เห็นรู้สึกอะไร…แต่ดิฉันรู้สึกนี่คะ และยังมีคนอีกหลายคนที่รู้สึก แต่ไม่กล้าพูด กลัวต่อสังคมคลั่งศาสนานี่ไง

ต่อให้อ้างเรื่องน้ำใจ ก็ควรเป็นการตัดสินใจอย่างอิสระ แต่ในสังคมเรามันไม่ใช่ มันถูกกดดันโดยวัฒนธรรม ถูกกดดันโดยผู้คนในสังคม ที่คิดว่าตัวเองกำลังธำรงซึ่งคุณงามความดีอยู่

ดิฉันไม่เห็นด้วยที่เราจะให้อภิสิทธิ์แก่พระภิกษุในระบบขนส่งสาธารณะ (รวมถึงนักบวชในทุกศาสนา-ถ้ามี)

แก้ไขข้อความเมื่อ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๘ เวลา ๑๔:๒๔:๑๘

…………

———————————–

(จบข้อความที่คัดลอกจากภาพ)

———————————–

แนวคิดรวมๆ ของท่านผู้เขียนข้อความนี้เป็นเรื่องที่ท่านมองว่า การที่สังคมไทยมีวัฒนธรรมเคารพนับถือพระสงฆ์นั้นถือว่าเป็นการให้อภิสิทธิ์ที่ไม่ถูกต้อง

ผมได้เขียนชี้แจงเรื่องนั้นไปแล้ว ญาติมิตรที่สนใจโปรดหาอ่านได้ตามลิงก์นี้

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/1130400390387030

………………

ส่วนที่จะเขียนต่อไปนี้จะขอพูดเฉพาะประเด็น “ความเชื่อห้ามโดนตัวผู้หญิง” และ “เสียสละเพื่อให้คุณไปสู่นิพพาน” ตามข้อความที่ยกมาไว้ข้างต้นนั้น ซึ่งผมเห็นว่าเป็นการกล่าวที่คลาดเคลื่อนอย่างยิ่ง

—————-

(๑) ประเด็น “ความเชื่อห้ามโดนตัวผู้หญิง”

ขึ้นต้นก็ผิดแล้ว

เบื้องต้นต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า “ห้ามโดนตัวผู้หญิง” นั้นไม่ใช่ “ความเชื่อ” หากแต่เป็นพุทธบัญญัติ เป็นศีลข้อหนึ่งของภิกษุที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้

ใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ไม่เกี่ยว 

เกี่ยวเฉพาะที่ว่า-ถ้าคุณเข้ามาบวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาเถรวาท คุณต้องปฏิบัติตาม 

ไม่เกี่ยวกับ-คุณจะเชื่อหรือไม่เชื่อ เพราะไม่ใช่เรื่องความเชื่อ 

แต่เป็นเรื่องที่คุณต้องปฏิบัติตาม เพราะเป็นพุทธบัญญัติ เป็นศีล

ถ้าปฏิบัติตามไม่ได้ คุณก็มีสิทธิ์-อย่าเข้ามาบวช

คุณจะบวชด้วย แล้วก็ไม่ปฏิบัติตามด้วย คุณก็ไม่ใช่คนปกติไปแล้ว

เมื่อเข้าใจถูกแล้ว ต่อไป ถ้าอยากรู้ว่ามันเรื่องอะไรกันที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติห้ามภิกษุโดนตัวผู้หญิง ก็ตามไปศึกษาดูได้ 

ถ้าเป็นชาวบ้าน อยากรู้เรื่องนี้ก็ไปศึกษาดูได้ เพราะไม่ใช่เรื่องปกปิดลี้ลับ สมัยนี้สื่อออนไลน์มีมากก็ยิ่งสะดวก นั่งกดปุ่มอยู่กับบ้านก็ศึกษาดูได้สบาย จะเข้าไปที่เว็บไหน ช่องไหน ก็ค้นดูเอา ไม่ต้องถ่อไปถึงในวัดเหมือนสมัยก่อน

ถ้าเป็นภิกษุยิ่งต้องศึกษา คือจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาให้รู้ไว้ จะอ้างว่าไม่รู้หรือไม่ต้องรู้ ไม่ได้ และจะต้องศึกษาในฐานะเป็นความจำเป็นเร่งด่วนด้วย

เพื่ออำนวยความสะดวก ขอยกมาให้อ่านกันตรงนี้เลย เรียกว่า-ไม่ใช่ยกชามมาตั้งอย่างเดียว แต่ตักใส่ปากป้อนให้เลย คุณรับภาระเพียงแค่อ้าปากแล้วก็กิน-เท่านั้นพอ

………………….

สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๒

เรื่องพระอุทายี

[๓๗๕] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี 

ครั้งนั้นท่านพระอุทายีอยู่ในป่า วิหารของท่านงดงาม น่าดู น่าชม มีห้องกลาง มีระเบียงโดยรอบ เตียงตั่งฟูกหมอนจัดไว้เรียบร้อย น้ำฉัน น้ำใช้ตั้งไว้ดีแล้ว บริเวณเตียนสะอาด ประชาชนเป็นอันมากพากันมาชมวิหารของท่านพระอุทายี 

ฝ่ายพราหมณ์คนหนึ่งกับภรรยาก็เข้าไปหาท่านพระอุทายี แล้วได้กล่าวกะท่านว่า พวกผมอยากชมวิหารของท่าน 

ท่านพระอุทายีกล่าวเชิญว่า ถ้าเช่นนั้นเชิญชมเถิดพราหมณ์ แล้วถือลูกดาลไขลิ่มผลักบานประตูเข้าไป

ฝ่ายพราหมณ์นั้นก็ตามหลังท่านพระอุทายีเข้าไป ส่วนพราหมณีตามหลังพราหมณ์เข้าไป 

ขณะนั้นท่านพระอุทายีเดินไปเปิดบานหน้าต่างบางตอน ปิดบานหน้าต่างบางตอนรอบห้อง แล้วย้อนมาทางหลัง จับอวัยวะน้อยใหญ่ของพราหมณีนั้น

ครั้นพราหมณ์นั้นสนทนากับท่านพระอุทายีแล้วก็ลากลับไป พราหมณ์นั้นดีใจเปล่งวาจาแสดงความยินดีว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้อยู่ในป่าเช่นนี้ยังมีอัธยาศัยดี แม้ท่านพระอุทายีอยู่ในป่าเช่นนี้ก็ยังมีอัธยาศัยดี

เมื่อพราหมณ์กล่าวอย่างนั้นแล้ว พราหมณีได้กล่าวกะพราหมณ์นั้นว่า พระอุทายีจะมีอัธยาศัยดีแต่ที่ไหน เพราะพระอุทายีได้จับอวัยวะน้อยใหญ่ของดิฉันเหมือนที่ท่านจับดิฉัน 

พอได้ทราบดังนั้น พราหมณ์จึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้เป็นผู้ไม่ละอาย ทุศีล พูดเท็จ ไฉนพระสมณะเหล่านี้ยังจักปฏิญาณว่าเป็นผู้ประพฤติธรรม ประพฤติเรียบร้อย ประพฤติพรหมจรรย์ พูดจริง มีศีลมีกัลยาณธรรม ดังนี้เล่า ความเป็นสมณะของพระสมณะเหล่านี้ไม่มี ความเป็นพราหมณ์ของพระสมณะเหล่านี้ไม่มี ความเป็นสมณะของพระสมณะเหล่านี้พินาศแล้ว ความเป็นพราหมณ์ของพระสมณะเหล่านี้พินาศแล้ว ความเป็นสมณะของพระสมณะเหล่านี้จะมีแต่ที่ไหน ความเป็นพราหมณ์ของพระสมณะเหล่านี้จะมีแต่ที่ไหน พระสมณะเหล่านี้ปราศจากความเป็นสมณะแล้ว พระสมณะเหล่านี้ปราศจากความเป็นพราหมณ์แล้ว ไฉนพระสมณอุทายีจึงได้จับต้องอวัยวะน้อยใหญ่ของภรรยาเรา ต่อไปกุลสตรี กุลธิดา กุลกุมารี สะใภ้ผู้มีสกุล กุลทาสี จักไม่กล้าไปสู่อารามหรือวิหาร เพราะถ้าไป พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านั้นก็จะพึงประทุษร้ายเขา (คือก็จะจับต้องเคล้าคลึงเหมือนกับที่พระอุทายีทำกับพราหมณีผู้นี้)

ภิกษุทั้งหลายได้ยินพราหมณ์นั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ บรรดาที่เป็นผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขา ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนท่านพระอุทายีจึงได้ถึงกายสังสัคคะ ( = การใช้เนื้อตัวร่างกายสัมผัสถูกต้องกัน) กับมาตุคามเล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามท่านพระอุทายีว่า ดูก่อนอุทายี ข่าวว่าเธอถึงกายสังสัคคะกับมาตุคามจริงหรือ

ท่านพระอุทายีทูลรับว่า จริงพระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูก่อนโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั่นไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉนเธอจึงได้ถึงกายสังสัคคะกับมาตุคามเล่า

ดูก่อนโมฆบุรุษ ธรรมอันเราแสดงแล้วโดยอเนกปริยาย เพื่อคลายความกำหนัด ไม่ใช่เพื่อมีความกำหนัด เพื่อความพราก ไม่ใช่เพื่อความประกอบ เพื่อความไม่ถือมั่น ไม่ใช่เพื่อมีความถือมั่นมิใช่หรือ เมื่อธรรมชื่อนั้นอันเราแสดงแล้วเพื่อคลายความกำหนัด เธอยังจักคิดเพื่อมีความกำหนัด เราแสดงเพื่อความพราก เธอยังจักคิดเพื่อความประกอบ เราแสดงเพื่อความไม่ถือมั่น เธอยังจักคิดเพื่อมีความถือมั่น

ดูก่อนโมฆบุรุษ ธรรมอันเราแสดงแล้วโดยอเนกปริยาย เพื่อเป็นที่สำรอกราคะ เพื่อเป็นที่สร่างความเมา เพื่อบรรเทาความกระหาย เพื่อเพิกถอนอาลัย เพื่อเข้าไปตัดวัฏฏะ เพื่อสิ้นตัณหา เพื่อคลายความกำหนัด เพื่อความดับทุกข์ เพื่อความไม่มีกิเลสเครื่องร้อยรัดมิใช่หรือ

การละกามเราก็บอกแล้ว การกำหนดรู้ความหมายในกาม การกำจัดความกระหายในกาม การเพิกถอนความตรึกอันเกี่ยวด้วยกาม การระงับความกลัดกลุ้มเพราะกาม เราก็บอกไว้แล้วโดยอเนกปริยายมิใช่หรือ

ดูก่อนโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั่นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว อันที่แท้การกระทำของเธอนั้นนั่นเป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว

ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงติเตียนท่านพระอุทายีโดยอเนกปริยายแล้ว ทรงติโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ทรงสรรเสริญคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย แล้วทรงทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้น แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแลเราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑ เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดในปัจจุบัน ๑ เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑ เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ๑ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ เพื่อความตั่งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑ เพื่อถือตามพระวินัย ๑ 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ว่าดังนี้:-

โย  ปน  ภิกฺขุ  โอติณฺโณ  วิปริณเตน  จิตฺเตน  มาตุคาเมน  สทฺธึ  กายสํสคฺคํ  สมาปชฺเชยฺย  หตฺถคาหํ  วา  เวณิคาหํ  วา  อญฺญตรสฺส  วา  อญฺญตรสฺส  วา  องฺคสฺส  ปรามสนํ  สงฺฆาทิเสโส.

อนึ่ง ภิกษุใดกำหนัดแล้ว มีจิตแปรปรวนแล้ว ถึงความเคล้าคลึงด้วยกายกับมาตุคาม คือจับมือก็ตาม จับช้องผมก็ตาม ลูบคลำอวัยวะอันใดอันหนึ่งก็ตาม เป็นสังฆาทิเสส.

เรื่องพระอุทายี จบ

——-

ที่มา:

มหาวิภังค์ ภาค ๑ วินัยปิฎก พระไตรปิฎกเล่ม ๑ ข้อ ๓๗๕

………………….

นี่คือความเป็นมาของพุทธบัญญัติ “ห้ามโดนตัวผู้หญิง”

ที่ยกมานี้เป็นเฉพาะ “ตัวบท” (ทำนองเดียวกับมาตราต่างๆ ในพระราชบัญญัติ) เท่านั้น ยังมีคำอธิบาย รายละเอียด เงื่อนไขแห่งการกระทำผิด และข้อยกเว้นในลักษณะต่างๆ อีกหลายอย่าง ล้วนเป็นเรื่องที่ภิกษุจะต้องศึกษาให้เข้าใจทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้น อย่ามโนเอาเองว่าเป็นเรื่อง “ความเชื่อ”

และพึงเข้าใจให้ถูกต้องว่า การที่ภิกษุมีกฎไม่ถูกต้องตัวผู้หญิงนั้นไม่ได้ทำให้ใคร-โดยเฉพาะผู้หญิง-ต้องเดือดร้อนเลยแม้แต่น้อย

คงไม่มีผู้หญิงคนไหนตั้งเกณฑ์สำหรับตัวเองไว้ว่า วันหนึ่งจะต้องได้ถูกต้องตัวผู้ชายวันละเท่านั้นเท่านี้คน แล้วผู้ชายเกิดไปบวชกันมาก ทำให้มีผู้ชายมาถูกต้องตัวผู้หญิงน้อยลง เพราะฉะนั้นการที่ภิกษุถูกตัวผู้หญิงไม่ได้ก็จึงก่อให้เกิดปัญหาแก่ผู้หญิง

ผู้หญิงคนไหนมีปัญหาแบบนี้บ้างหรือ?

เคยมีผู้สมมุติเหตุการณ์ว่า ผู้หญิงป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุ จะต้องจับเนื้อต้องตัวเพื่อช่วยเหลือ แล้วเกิดในที่นั้นมีภิกษุอยู่รูปเดียว หรือมีแต่ภิกษุล้วนๆ ไม่มีคนอื่น ภิกษุถูกตัวผู้หญิงไม่ได้ ผู้หญิงคนนั้นไม่ได้รับการช่วยเหลือทันท่วงทีก็เลยตายไป – นี่ไงคือโทษของการโดนตัวผู้หญิงไม่ได้

ผมบอกว่า อย่าเอาเรื่องสมมุติมาข่มกัน พูดเรื่องจริงๆ กันเลยดีกว่า ปีชาติมีเหตุการณ์แบบสมมุตินี้สักกี่ราย

แต่ถ้ามีเหตุการณ์ตามสมมุตินี่จริงๆ ทางออกก็มีเยอะแยะไป โดยชั้นที่สุด เมื่อไม่มีวิธีอื่น ก็ลงมือช่วยเหลือโดยจับต้องตัวไปตามเหตุการณ์ แล้วไปตั้งกรรมการสอบสวนกันอีกทีว่า ที่จับเนื้อต้องตัวในเวลาช่วยเหลือนั้น “มีจิตกำหนัดยินดี” หรือเปล่า ทั้งนี้เพราะการมีจิตกำหนัดยินดีในการถูกเนื้อต้องตัวเป็นเงื่อนไขสำคัญของฐานความผิด

จะเห็นได้ว่าทางออกมี แต่ไม่ใช่ออกด้วยวิธียกเลิกข้อบัญญัตินี้แล้วให้ภิกษุถูกตัวผู้หญิงได้เหมือนผู้ชายทั่วไป

(๒) ประเด็น “เสียสละเพื่อให้คุณไปสู่นิพพาน”

นี่ก็เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอย่างยิ่ง

โปรดเข้าใจให้ถูกต้องด้วยว่า การที่ใครสักคนจะไปนิพพานนั้นไม่ต้องอาศัยความเสียสละของใครเลย

คนที่จะต้องเสียสละมีคนเดียวเท่านั้น นั่นคือเจ้าตัวผู้ที่จะไปนิพพาน

ใครจะไปนิพพาน คนนั้นจะต้องเสียสละเป็นคนแรก และเป็นคนเดียวเท่านั้น คนอื่นไม่ต้องมาเสียสละอะไรให้เลย

เจ้าตัวผู้ที่จะไปนิพพานต้องเสียสละตัวเอง คือเข้าไปบวชเป็นภิกษุสามเณร เสียสละความสนุกทางโลก งดเว้นการกระทำต่างๆ แบบชาวโลก กินน้อย นอนน้อย ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปเพื่อการฝึกหัดขัดเกลาจิตใจตนเอง จนกิเลสเบาบางลง น้อยลง และหมดสิ้นไปในที่สุด

ทั้งหมดนี้ต้องทำด้วยตัวเองทั้งสิ้น

จะไปหวังพึ่งความเสียสละของใครไม่ได้เลยแม้แต่น้อย

อ้าว แล้วที่ญาติโยมใส่บาตรให้ฉัน และถวายปัจจัยอย่างอื่นๆ ตลอดจนอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้นั่นเล่า ไม่เรียกว่าญาติโยมต้องเสียเพื่อให้พระไปนิพพานดอกหรือ

จะให้เรียกก็ได้ แต่ไม่ตรง และไม่ใช่ปัจจัยหลัก

ถ้าเจ้าตัวไม่ทำอะไรที่จะเป็นเหตุให้บรรลุนิพพาน ต่อให้ญาติโยมประเคนให้ทุกอย่าง ก็ไปนิพพานไม่ได้

แต่ถ้าเจ้าตัวมุ่งหน้าปฏิบัติขัดเกลาตนเองเพื่อบรรลุธรรม แม้จะไม่มีญาติโยมเอาอะไรมาเสียสละให้เลย ก็บรรลุนิพพานได้

เพราะฉะนั้น อย่ามาทวงบุญคุณว่าที่คุณไปนิพพานได้นี่เพราะฉันยอมเสียสละ

โดยเฉพาะคนบางคนที่ไม่ศรัทธา ไม่เลื่อมใส ซ้ำยังตำหนิติเตียนแบบไม่ลืมหูลืมตาดูข้อเท็จจริงด้วยแล้ว – ออกไปให้ไกลๆ เลย ไม่ต้องเสียเวลามายุ่ง

พระที่ท่านอาศัยก้อนข้าวของชาวบ้านยังชีพพอให้มีกำลังปฏิบัติธรรม ท่านย่อมรู้ด้วยตัวท่านเองว่าใครเสียสละหรือไม่เสียสละอะไรให้ท่าน เวลาจะฉันจะใช้ปัจจัยที่ชาวบ้านเขาให้มา พระพุทธเจ้าท่านสั่งกำชับไว้เรียบร้อยแล้วว่าให้ตั้งสติตั้งอารมณ์อย่างไร

พระอรหันต์สมัยพุทธกาล โยมใส่บาตรท่านทัพพีเดียวเท่านั้น ท่านจำบุญคุณไว้ไม่เคยลืมเลย

เพราะฉะนั้น อย่ามาทวงบุญคุณกับพระ

หน้าที่ใครหน้าที่มัน

โดยเฉพาะคนที่ไม่เลื่อมใสด้วยแล้ว อย่าคิดเป็นอันขาดว่าถ้าไม่มีข้าพเจ้าคนเดียว พระท่านจะไปนิพพานไม่ได้ 

แล้วก็อย่าเข้าใจผิดส่งเดชอีกต่อไปว่า ใครจะไปนิพพานต้องอาศัยความเสียสละของคนอื่น

อีกประการหนึ่ง ควรเข้าใจให้ถูกต้องด้วยว่า การจะไปนิพพานนั้นไม่ใช่ว่าต้องเริ่มต้นด้วยการบวชเท่านั้นจึงจะไปได้

ชาวบ้านที่ไม่ได้บวช แต่ปฏิบัติจิตภาวนาจนบรรลุธรรมเป็นอริยบุคคลมีอยู่เป็นอเนกอนันต์ ไปศึกษาประวัติพระพุทธศาสนาดูเถิด

เพราะฉะนั้น ควรเลิกเข้าใจผิดได้แล้วว่า ต้องมีคนเสียสละอะไรให้แก่คนหนึ่งเพื่อให้คนนั้นไปนิพพานได้

ควรเข้าใจให้ถูกต้องด้วยว่า ค่าใช้จ่ายเพื่อไปนิพพานนั้นถูกเสียยิ่งกว่าค่าส่งเสียเด็กคนหนึ่งให้เรียนจบชั้นประถมเสียอีก

พูดให้ถูกต้องจริงๆ แล้วต้องบอกว่า ไปนิพพานใช้ทรัพยากรน้อยกว่าที่ต้องใช้เพื่อมีชีวิตอยู่โลกนี้ตามปกติธรรมดาเสียอีก

ความจริง พูดให้ถูกต้องจริงๆ ต้องบอกว่า ไปนิพพานไม่ต้องใช้ทรัพยากรอะไรเลย-นอกจากสิ่งที่มีมากับตัวอยู่แล้วตั้งแต่เกิด-นั่นคือลมหายใจ

ดังนั้น จะต้องมีใครมาเสียสละอะไรให้ใครไปนิพพานกันอีกเล่า?

อันที่จริงแล้ว ควรถอยไปตั้งหลักศึกษาให้เข้าใจถูกต้องถ่องแท้เสียก่อนด้วยซ้ำไปว่า ที่พูดกันว่านิพพานๆ นั้น รู้หรือเปล่าว่าคืออะไรกันแน่ เพราะชักไม่แน่ใจเสียแล้วว่า นิพพานที่พูดนั้นเป็นนิพพานมโนเอาเองหรือเปล่า หรือว่าได้ยินเขาพูดก็พูดตามเขาไปอย่างนั้นเอง

พระพุทธศาสนานั้นต้องศึกษาเรียนรู้

และข้อสำคัญต้องลงมือปฏิบัติด้วย

มโนเอาเองไม่ได้

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๖ กันยายน ๒๕๕๙

๑๕:๐๐

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *