สามัญ-สามานย์ (บาลีวันละคำ 825)
สามัญ-สามานย์
“สามัญ” บาลีเป็น “สามญฺญ” อ่านว่า สา-มัน-ยะ มีรากศัพท์ดังนี้ –
(1) สมาน (สะ-มา-นะ, เสมอกัน, เหมือนกัน, เหมาะสมกัน) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, ยืดเสียง ส– (ที่ สมาน) เป็น สา– ด้วยอำนาจ ณฺย ปัจจัย, แปลง อาน (ที่ –มาน) กับ ย เป็น ญฺญ
: สมาน > สามาน + ณฺย > ย : สามาน + ย = สามญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เสมอกัน” หมายถึง (1) เหมือนกัน, เสมอกัน, เท่ากัน, อย่างเดียวกัน (similar, equal, even, same) (2) สามัญ, ความเสมอกัน, การอนุวัตตาม; ความเป็นหนึ่ง, วงสมาคม (generality; equality, conformity; unity, company)
(2) สมณ (สะ-มะ-นะ, นักบวช, นักพรต) + ณฺย ปัจจัย (กฎการแปลงทำนองเดียวกับ สมาน + ณฺย)
: สมณ > สามณ + ณฺย > ย : สามณ + ย = สามญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นสมณะ” คือ ภาวะแห่งนักบวช, ชีวิตของนักพรต (true Samaṇaship, the life of the recluse)
สามญฺญ ในภาษาไทยใช้ว่า “สามัญ” (สา-มัน) มักใช้ตามความหมายในข้อ (1) เป็นส่วนมาก คำนี้เขียนตามสันสกฤตเป็น “สามานย์” (สา-มาน)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ, ความหมายที่ท่านให้ไว้ในภาษาไทยหลายคำเข้าใจยาก ถ้าดูภาษาอังกฤษอาจช่วยให้เข้าใจง่ายขึ้น)
(1) สามานฺย : (คุณศัพท์) ‘สามานยะ’ สาธารณะ; common.
(2) สามานฺย : (คำนาม) ‘สามานยะ’ เภท, ประเภท; ชาติธรรม, วิเศษลักษณะ; สามานยทรัพย์; โลกกฤตย์, ชนการย์หรือคณกรรมน์; สากลย์; รูปอลังการศาสตร์; สตรีที่เปนสาธารณะแก่ชายทั้งหลาย, หญิงแพศยา; kind, sort; specific property, generic character, or foremost quality; common property; public affairs or business; totality, the whole; a figure of rhetoric; a female who is common to all men, a harlot.
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) สามัญ– ๑ : (คำนาม) ความเป็นสมณะ เช่น สามัญผล. (ป. สามญฺญ; ส. ศฺรามณฺย).
(2) สามัญ ๒ : (คำวิเศษณ์) ปรกติ, ธรรมดา, เช่น ชนชั้นสามัญ คนสามัญ. (ป. สามญฺญ; ส. สามานฺย).
(3) สามานย์ : (คำวิเศษณ์) เลวทรามตํ่าช้า เช่น ลูกสามานย์ทำร้ายพ่อแม่, มักใช้เข้าคู่กับคำ ชั่วช้า เป็น ชั่วช้าสามานย์. (ส. สามานฺย).
(4) สามานย– : (คำวิเศษณ์) ปรกติ, ธรรมดา, เช่น สามานยนาม. (ส. สามานฺย; ป. สามญฺญ).
ความหมายโดยสรุปตามที่มักเข้าใจกันในภาษาไทย :
– สามัญ = ปรกติ, ธรรมดา
– สามานย์ = ชั่วช้า, เลวทราม
ถูกกับผิด มีติดอยู่กับโลก : ถูกธรรมดา
เห็นผิดเป็นถูก เห็นถูกเป็นผิด : ผิดธรรมดา
: รู้ทันธรรมดา แต่อย่าผิดธรรมดา
#บาลีวันละคำ (825)
21-8-57