ทุรกันดาร [2] (บาลีวันละคำ 1,561)
ทุรกันดาร [2]
อ่านว่า ทุ-ระ-กัน-ดาน
ประกอบด้วย ทุร + กันดาร
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) ทุร- : (คำวิเศษณ์) คําประกอบหน้าคําศัพท์ หมายความว่า ชั่ว, ยาก, ลําบาก, น้อย, ไม่มี, เช่น ทุรค ว่า ที่ไปถึงยาก, ทางลําบาก. (ส.).
(2) กันดาร : (คำวิเศษณ์) อัตคัด, ฝืดเคือง, เช่น กันดารข้าว กันดารน้ำ, ลําบาก, แห้งแล้ง, คํานี้มักใช้แก่เวลา ท้องที่ หรือถิ่นที่มีลักษณะเช่นนั้น เช่น คราวกันดาร ทางกันดาร ที่กันดาร.น. ป่าดง, ทางลําบาก. (ป. กนฺตาร).
(3) ทุรกันดาร : (คำวิเศษณ์) ที่ไปมาลําบากมาก, ที่ห่างไกลความเจริญ.
ถ้าดูตามนี้ คำว่า “ทุร” ในคำว่า “ทุรกันดาร” ก็ตรงกับคำอุปสรรคในบาลีว่า “ทุ” ซึ่งนักเรียนบาลีในไทยท่องจำคำแปลได้ตั้งแต่ชั้นไวยากรณ์ว่า “ชั่ว, ยาก, ลําบาก, ทราม, น้อย”
(ดูเพิ่มเติม : “ทุรกันดาร [1]” บาลีวันละคำ (640) 15-2-57)
ผู้เขียนบาลีวันละคำขอเสนอทฤษฎีใหม่ว่า “ทุรกันดาร” น่าจะมาจาก ทูร + กันดาร
(๑) “ทูร” (ทู– สระ อู) อ่านว่า ทู-ระ รากศัพท์มาจาก ทุ (คำอุปสรรค = ยาก, ลำบาก) + อรฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + อ ปัจจัย, ใช้สูตร “ลบสระหลัง ทีฆะสระหน้า” คือ (ทุ + อรฺ : ทุ อยู่หน้า อรฺ อยู่หลัง) ลบ อะ ที่ อรฺ (อรฺ > ร) ทีฆะ อุ ที่ ทุ เป็น อู (ทุ > ทู)
: ทุ + อรฺ = ทุร > ทูร + อ = ทูร (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ที่ที่ไปถึงโดยยาก” หมายถึง ไกล, ห่าง, ห่างไกล (far, distant, remote)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ทูร– :(คำวิเศษณ์) คําประกอบหน้าคําศัพท์ หมายความว่า ไกล เช่น ทูรบถ ทูรมรรคา ว่า ทางยาว, ทางไกล. (ป.).”
(๒) “กันดาร”
บาลีเป็น “กนฺตาร” อ่านว่า กัน-ตา-ระ รากศัพท์มาจากหลายทาง ขอนำมาแสดงเพียง 2 นัย ดังนี้ –
(1) ก (น้ำ) + ตรฺ (ธาตุ = ข้าม) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ลงนิคหิตอาคมที่ ก แล้วแปลงเป็น นฺ (ก > กํ > กนฺ), ทีฆะต้นธาตด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ (ตรฺ > ตาร)
: ก > กํ > กนฺ + ตรฺ = กนฺตรฺ + ณ = กนฺตรณ > กนฺตร > กนฺตาร แปลตามศัพท์ว่า “ภูมิประเทศเป็นที่ข้ามไปได้ด้วยน้ำ” (คือต้องมีน้ำติดไปด้วย)
(2) กติ (ธาตุ = ตัด) + อาร ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ ก แล้วแปลงเป็น นฺ (กติ > กํติ > กนฺติ), ลบ อิ ที่สุดธาตุ (กติ > กต)
: กติ > กํติ > กนฺติ > กนฺต + อารฺ = กนฺตาร แปลตามศัพท์ว่า “ภูมิประเทศที่ตัดการไปมาประจำเพราะมีภัยเฉพาะหน้า” (เช่นมีโจรผู้ร้าย หรือมีสัตว์ร้ายชุกชุมจนคนไม่กล้าผ่าน)
“กนฺตาร” (ปุงลิงค์) หมายถึง ยากที่จะผ่าน, ทางที่ลำบาก, ที่ดินที่ปล่อยทิ้ง, ที่อ้างว้าง (difficult to pass, a difficult road, waste land, wilderness)
“กนฺตาร” ในภาษาไทยใช้ว่า “กันดาร”
พจน.54 บอกไว้ว่า –
“กันดาร : (คำวิเศษณ์) อัตคัด, ฝืดเคือง, เช่น กันดารข้าว กันดารน้ำ, ลำบาก, แห้งแล้ง, คำนี้มักใช้แก่เวลา ท้องที่ หรือถิ่นที่มีลักษณะเช่นนั้น เช่น คราวกันดาร ทางกันดาร ที่กันดาร. (ป. กนฺตาร, ส. กานฺตาร ว่า ป่าดง, ทางลำบาก).”
ทูร + กันดาร = ทูรกันดาร แปลว่า “ทางไกลและทางลำบาก” หมายถึง ท้องที่หรือถิ่นซึ่งทั้งอยู่ห่างไกลด้วย ทั้งไปถึงได้โดยยากลำบากด้วย
ถ้าไกล แต่ไปไม่ลำบาก หรือไปลำบาก แต่ไม่ไกล ก็ยังไม่ใช่ “ทูรกันดาร” ต้องไกลด้วย ไปลำบากด้วย จึงจะเป็น “ทูรกันดาร”
เข้าใจว่า แต่เดิมที่ใช้ในภาษาไทยก็คงจะเขียนเป็น “ทูรกันดาร” (ทู– สระ อู) นี่เอง แต่มักออกเสียงเพี้ยนจาก ทู-ระ- เป็น ทุ-ระ- (ทุ- สระ อุ) แล้วก็เลยผิดเป็น “ทุรกันดาร”
พอดีคำว่า “ทุร-” มีความหมายกลมกลืนกัน (ทุร– = ชั่ว, ยาก, ลําบาก, น้อย, ไม่มี) เขียนเป็น “ทุรกันดาร” จึงไปด้วยกันได้สนิท แล้วเลยกลายเป็นคำถูก และไม่มีใครนึกถึง “ทูรกันดาร” (ทั้งไกล ทั้งไปยาก) อีกเลย
ที่ว่ามานี้เป็นข้อสันนิษฐานของผู้เขียนบาลีวันละคำแต่เพียงผู้เดียว ญาติมิตรทั้งปวงไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยแต่ประการใด
…………
: ถ้ายังเวียนว่ายตายเกิด
: จงรู้ไว้เถิดว่ายังไม่พ้นทุรกันดาร
12-9-59