สุขา (บาลีวันละคำ 589)
สุขา
มาจากหนใด
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า
“สุขา : (ภาษาปาก) ห้องนํ้าห้องส้วม, เป็นคำที่มักใช้เรียกตามสถานที่บางแห่ง เช่นโรงภาพยนตร์ สถานีรถไฟ, ห้องสุขา ก็เรียก”
มีหลักฐานในพระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ.116 (พ.ศ.2440 รัชกาลที่ 5) ความตอนหนึ่งว่า –
“ตอน ๒ การจัดเว็จที่ถ่ายอุจาระ แลปัสสาวะของมหาชนทั่วไป
มาตรา ๑๓ ข้อ ๑ ให้กรมศุขาภิบาลปฤกษาพร้อมด้วยเจ้าพนักงานแพทย์กับช่างใหญ่ (เอ็นยินเนีย) ให้มีเว็จที่ตำบลอันสมควร สำหรับราษฎรถ่ายอุจาระและปัสสาวะได้โดยสดวก ไม่เปนที่เดือดร้อน แลจัดการรักษาแลชำระให้เรียบร้อยทุกๆ วัน”
(ที่มา : ราชกิจจานุเบกษา ร.ศ.116 เล่ม 14 หน้า 521 สะกดการันต์ตามต้นฉบับ)
คำว่า “เว็จ” ในพระราชกำหนดนี้ พจน.42 สะกด “เวจ” บอกความหมายว่า “ที่ถ่ายอุจจาระ”
“ที่ถ่ายอุจจาระ” บาลีใช้คำว่า “วจฺจกุฏิ” (วัด-จะ-กุ-ติ) ประกอบด้วยคำว่า วจฺจ + กุฏิ
“วจฺจ” แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ห้ามความสุข” หมายถึง คูถ, ขี้, อุจจาระ
“กุฏิ” แปลตามศัพท์ว่า “โรงเรือนที่ตัด” (คือตัดความกังวล) “โรงเรือนเป็นที่อยู่อาศัย” หมายถึง กระท่อม, เพิง, สิ่งปลูกสร้างเล็กๆ สำหรับอาศัย
ในภาษาไทย พจน.42 บอกไว้ว่า
“กุฏิ (กุด, กุด-ติ, กุ-ติ) : เรือนหรือตึกสําหรับพระภิกษุสามเณรอยู่”
วจฺจ + กุฏิ = วจฺจกุฏิ แปลตามศัพท์ว่า “กระท่อมเป็นที่ขับถ่ายอุจจาระ” ใช้ในภาษาไทยว่า “เวจกุฎี” (เว็ด-จะ-กุ-ดี) พจน.42 บอกไว้ว่า
“เวจกุฎี : ที่ถ่ายอุจจาระ, ส้วม, (ใช้แก่บรรพชิต), วัจกุฎี ก็เรียก”
เพราะกรมสุขาภิบาลเป็นผู้จัดให้มี “เว็จ” สำหรับราษฎรทั่วไปถ่ายอุจาระและปัสสาวะ ชาวบ้านคงเรียกง่ายๆ ว่า “เว็จสุขา” (= เวจของกรมสุขาภิบาล) นานเข้า คำว่า “เว็จ” หายไป เรียกกันเพียงแค่ “สุขา” ก็เป็นอันเข้าใจกันว่าหมายถึงห้องนํ้าห้องส้วม
“สุขา” จึง (น่าจะ) มีที่มาด้วยประการฉะนี้
อะไรเอ่ย …
: ตอนเอาเข้า สนุกกันไม่หยอก
: ตอนเอาออก แอบทำคนเดียว
26-12-56