อภัพบุคคล (บาลีวันละคำ 2477)
อภัพบุคคล
อ่านว่า อะ-พับ-พะ-บุก-คน
ประกอบด้วยคำว่า อภัพ + บุคคล
(๑) “อภัพ”
บาลีเป็น “อภพฺพ” (อะ-พับ-พะ) มาจาก น (ไม่, ไม่ใช่) + ภพฺพ
(ก) “ภพฺพ” รากศัพท์มาจาก ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ (ณฺย > ย), แผลง อู ที่ ภู เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อว (ภู > โภ > ภว), แปลง ว กับ ย เป็น พฺพ
: ภู + ณฺย = ภูณฺย > โภณฺย > ภวณฺย > ภวฺย > ภพฺพ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ควรเป็น”
“ภพฺพ” ในบาลีใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง –
(1) สามารถ, เหมาะสำหรับ, สมควร (able, capable, fit for)
(2) เป็นไปได้ (possible)
(ข) น + ภพฺพ แปลง น เป็น อ ตามกฎการเปลี่ยนรูปของ น เมื่อไปประสมกับคำอื่น คือ –
(1) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยสระ (อ– อา– อิ– อี– อุ– อู– เอ– โอ-) แปลง น เป็น อน– เช่น :
น + อามัย = อนามัย
น + เอก = อเนก
(2) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ แปลง น เป็น อ– เช่น :
น + นิจจัง = อนิจจัง
น + มนุษย์ = อมนุษย์
ในที่นี้ “ภพฺพ” ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ จึงแปลง น เป็น อ–
น + ภพฺพ = นภพฺพ > อภพฺพ (อะ-พับ-พะ) แปลว่า “สิ่งที่ไม่ควรเป็น” หมายถึง ไม่ควร, ไม่เหมาะ, เป็นไปไม่ได้ (impossible, not likely, unable)
“อภพฺพ” ในภาษาไทยใช้เป็น “อภัพ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อภัพ, อภัพ– : (คำวิเศษณ์) ไม่สมควร, เป็นไปไม่ได้. (ป. อภพฺพ; ส. อภวฺย).”
(๒) “บุคคล”
บาลีเป็น “ปุคฺคล” (ปุก-คะ-ละ) รากศัพท์มาจาก –
(1) ปุ (นรก) + คลฺ (ธาตุ = เคลื่อน) + อ ปัจจัย, ซ้อน คฺ
: ปุ + คฺ + คลฺ = ปุคฺคลฺ + อ = ปุคฺคล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เคลื่อนไปสู่นรก”
(2) ปูติ (ของบูดเน่า) + คลฺ (ธาตุ = กิน) + อ ปัจจัย, รัสสะ อู ที่ ปู-(ติ) เป็น อุ แล้วลบ ติ (ปูติ > ปุติ > ปุ), ซ้อน คฺ
: ปูติ > ปุติ > ปุ + คฺ + คลฺ = ปุคฺคลฺ + อ = ปุคฺคล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้กินอาหารคือของบูดเน่า”
(3) ปุคฺค (อาหารที่ยังอายุของสัตว์ให้เต็ม) + ลา (ธาตุ = กิน) + อ ปัจจัย, ลบ อา ที่ ลา (ลา > ล)
: ปุคฺค + ลา = ปุคฺคลา > ปุคฺคล + อ = ปุคฺคล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้กินอาหารที่ยังอายุของสัตว์ให้เต็มเป็นไป” (คือต้องกินจึงจะมีชีวิตอยู่ได้)
(4) ปูร (เต็ม) + คล (เคลื่อน), รัสสะ อู ที่ ปู-(ร) เป็น อุ แล้วลบ ร (ปูร > ปุร > ปุ), ซ้อน คฺ ระหว่าง ปูร + คล
: ปูร > ปุร > ปุ + คฺ + คล = ปุคฺคล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำหมู่สัตว์โลกให้เต็มและเคลื่อนไปสู่ธรรมดาคือจุติและอุบัติ” (คือเกิดมาทำให้โลกเต็มแล้วก็ตาย)
“ปุคฺคล” ในบาลีหมายถึง –
(1) ปัจเจกชน, บุคคล, คน (an individual, person, man)
(2) สัตว์, สัตว์โลก (being, creature)
“ปุคฺคล” ใช้ในภาษาไทยว่า “บุคคล” (อ่านว่า บุก-คน, ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้ายอ่านว่า บุก-คะ-ละ-, บุก-คน-ละ-)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
“บุคคล, บุคคล– : (คำนาม) คน (เฉพาะตัว); (คำที่ใช้ในกฎหมาย) คนซึ่งสามารถมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย เรียกว่า บุคคลธรรมดา; กลุ่มบุคคลหรือองค์กรซึ่งกฎหมายบัญญัติให้เป็นบุคคลอีกประเภทหนึ่ง ที่ไม่ใช่บุคคลธรรมดา และให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย เรียกว่า นิติบุคคล. (ป. ปุคฺคล; ส. ปุทฺคล).”
ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามเหลือเพียง –
“บุคคล, บุคคล– : (คำนาม) คน (เฉพาะตัว); (คำที่ใช้ในกฎหมาย) บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล. (ป. ปุคฺคล; ส. ปุทฺคล).”
อภพฺพ + ปุคฺคล = อภพฺพปุคฺคล (อะ-พับ-พะ-ปุก-คะ-ละ) แปลว่า “บุคคลผู้ไม่สมควรที่จะเป็น”
“อภพฺพปุคฺคล” ในภาษาไทยใช้เป็น “อภัพบุคคล” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อภัพบุคคล : (คำนาม) คนไม่สมควร. (ป. อภพฺพปุคฺคล).”
ขยายความ :
ในทางธรรม “อภัพบุคคล” หมายถึง ผู้ที่เมื่ออยู่ในฐานะระดับหนึ่งจะไม่ทำเช่นนั้น หรือไม่มีทางที่จะเป็นเช่นนั้นไปได้ เช่น
– พระอรหันต์จะไม่ละเมิดเบญจศีลโดยเด็ดขาด
– ผู้ที่ฆ่าพ่อฆ่าแม่จะบรรลุธรรมเป็นอริยบุคคลไม่ได้เป็นเด็ดขาด
ทั้งนี้โดยที่ระดับจิตของบุคคลเช่นนั้นจะเป็นตัวกำหนดให้เป็นไปเช่นนั้นเอง
แต่ในระดับสังคม “อภัพบุคคล” รวมทั้งที่ตรงกันข้ามคือ “ภัพบุคคล” อาจหมายเพียงแค่คนที่สมควรหรือไม่สมควรที่จะอยู่ในฐานะนั้นๆ ได้ดำรงตำแหน่งนั้นๆ หรือได้ทำหน้าที่นั้นๆ เป็นต้น ทั้งนี้ย่อมเป็นไปตามกฎเกณฑ์ เงื่อนไข หรือค่านิยมที่สังคมนั้นๆ กำหนดขึ้นสำหรับเรื่องนั้นๆ
ใครทำตัวให้มีหรือให้ได้คุณสมบัติครบตามเกณฑ์ คนนั้นก็เป็น “ภัพบุคคล” คนที่สมควร ใครทำเช่นนั้นไม่ได้ก็เป็น “อภัพบุคคล” คนที่ไม่สมควร
…………..
ดูก่อนภราดา!
: คะแนนเสียงอาจส่งอันธพาลให้เข้าไปนั่งในสภา
: แต่อกุศลกรรมที่ทำมาไม่เคยส่งใครให้ขึ้นสวรรค์
#บาลีวันละคำ (2,477)
25-3-62