บาลีวันละคำ

ปาติโมกข์ (บาลีวันละคำ 827)

ปาติโมกข์

อ่านว่า ปา-ติ-โมก

บาลีเป็น “ปาติโมกฺข” อ่านว่า ปา-ติ-โมก-ขะ

ปาติ– สะกดเป็น ปาฏิ– (ใช้ ปฏัก) ก็มี

ปาติโมกฺข” มีรากศัพท์มาหลายทาง เช่น –

(1) (ทั้งปวง) + อติ (เกิน, ล่วง) + โมกฺข (พ้น) = ปาติโมกฺข แปลว่า “ธรรมที่เป็นเหตุให้ล่วงพ้นจากทุกข์ได้ด้วยประการทั้งปวง

(2) ปฏิ (มุ่งเฉพาะ) + มุข (ต้นทาง) = ปาติโมกฺข แปลว่า “หลักธรรมที่เป็นต้นทาง หรือเป็นประธานมุ่งหน้าไปสู่ความพ้นทุกข์

(3) ปาติ (กิเลสที่ทำให้ตกนรก) + โมกฺข (ธาตุ = หลุดพ้น) = ปาติโมกฺข แปลว่า “ธรรมที่ยังบุคคลผู้รักษาให้หลุดพ้นจากนรก

ปาติโมกข์” ที่เราคุ้นกันดีเป็นคัมภีร์รวบรวมพระวินัยที่เป็นหลักของภิกษุ ที่รู้กันว่า ศีล 227 ข้อ และมีพุทธานุญาตให้สวดในที่ชุมนุมสงฆ์ทุกกึ่งเดือน (วันกลางเดือน และสิ้นเดือนตามจันทรคติ) เพื่อทบทวนข้อปฏิบัติและสำรวจตนเองว่าได้ปฏิบัติตามพุทธบัญญัติครบถ้วนถูกต้องแล้วหรือไม่

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปาติโมกข์ : (คำนาม) คัมภีร์ว่าด้วยวินัยของสงฆ์ ๒๒๗ ข้อ, ชื่อบาลีที่ประมวลพุทธบัญญัติอันทรงตั้งขึ้นเป็นพุทธอาณา ได้แก่ อาทิพรหมจริยกาสิกขา มีพระพุทธานุญาตให้สวดในที่ประชุมสงฆ์ทุกวันอุโบสถ. (ป.)”

ที่ถือปฏิบัติมาแต่โบราณนานไกล สวดปาติโมกข์คือสวดสิกขาบท 227 ข้อ

ปัจจุบันเกิดมีสำนักที่คิดเห็นว่า ปาติโมกข์ที่มีพระพุทธานุญาตให้สวดนั้นมี 150 ข้อ ไม่ใช่ 227 ข้อดังที่ถือกันมา

จึงเกิดถกเถียงกันว่า สิกขาบทที่มีพระพุทธานุญาตให้สวดในที่ประชุมสงฆ์ทุกวันอุโบสถนั้นมีกี่ข้อกันแน่ ?

โปรดอย่าหลงประเด็น :

1 ปัญหาว่า-สิกขาบทหรือศีลที่พระสงฆ์ท่านยกขึ้นสวดปาติโมกข์ สวดกี่ข้อ

2 ไม่ใช่ปัญหาว่า-ศีลของพระมีกี่ข้อ

อุปมา :

พระพุทธศาสนาเปรียบเหมือนยารักษาโรค

ผู้เข้ามารับนับถือพระพุทธศาสนาเปรียบเหมือนคนป่วยที่สมัครใจใช้ยาขนานนี้รักษาโรค

หน้าที่ของคนป่วยก็คือลงมือใช้ยารักษาโรคให้ถูกวิธี

ถ้ามัวแต่เถียงกันว่า ยาขนานนี้ควรผสมเครื่องยาเท่าไร อะไรบ้าง หรือแม้กระทั่งว่าสิ่งนี้ใช่ยาหรือไม่ใช่ – ก็ไม่ได้ลงมือใช้ยาสักที

แล้วเมื่อไรโรคจะหาย

ถ้าไม่แน่ใจหรือไม่ไว้ใจในยาขนานนี้ ก็มีทางเลือก คือไปรักษาที่หมออื่น ใช้ยาขนานอื่นที่เห็นว่าน่าเชื่อถือกว่า

หรือไม่ก็กลับบ้านไปก่อน ไปศึกษาวิจัยให้เห็นสรรพคุณแจ่มแจ้งเสียก่อน เมื่อเชื่อใจแน่ใจแล้วจึงค่อยกลับเข้ามาใช้ยาขนานนี้รักษาโรคที่ตนกำลังป่วยอยู่

สำหรับผู้ป่วยที่ตั้งใจเข้ามาเพื่อใช้ยารักษาโรคและถ้าได้ลงมือใช้ยานั้นไปแล้วจริง สิ่งที่ควรสนใจก็คือ บัดนี้อาการเจ็บป่วยของตนเป็นเช่นไรแล้ว

หากจะสนใจที่มาหรือส่วนประสมของยาด้วย ก็ควรเป็นเพียงส่วนประกอบโดยที่จะต้องไม่ละเลยต่อเป้าหมายที่เข้ามาเพื่อบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วยของตนเป็นสำคัญ

ทางแห่งความพ้นทุกข์มีอยู่ :

: รู้ทาง แต่ไม่ออกเดินทาง

: ไม่มีโอกาสถึงปลายทาง

#บาลีวันละคำ (827)

23-8-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *