บาลีวันละคำ

ยโสโอหัง (บาลีวันละคำ 1,564)

ยโสโอหัง

มาจากไหน?

อ่านว่า ยะ-โส-โอ-หัง

ประกอบด้วย ยโส + โอหัง

(๑) “ยโส

ศัพท์เดิมเป็น “ยส” (ยะ-สะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) ยชฺ (ธาตุ = บูชา) + ปัจจัย, แปลง เป็น

: ยชฺ + = ยช > ยส แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องบูชา

(2) ยา (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ปัจจัย, รัสสะ อา ที่ ยา เป็น (ยา > )

: ยา + = ยาส > ยส แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เป็นไปทุกแห่ง” (ยศมีทั่วไปหมดทุกสังคม)

(3) ยสุ (ธาตุ = พยายาม) + ปัจจัย, ลบสระ อุ ที่สุดธาตุ (ภาษาไวยากรณ์ว่า “ลบสระหน้า”) (ยสุ > ยส)

: ยสุ + = ยสุ > ยส แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเหตุให้เขายกย่องหรือแวดล้อม” ขยายความว่า “มีผู้ยกย่องหรือแวดล้อมด้วยเหตุอันใด ก็พยายามทำเหตุอันนั้น”

ยส” เป็นศัพท์ในชุดที่เรียกว่า “มโนคณะ” มีคำว่า มน (ใจ) เจต (ใจ) ตม (ความมืด) เตช (เดช, อำนาจ) และ ยส เป็นต้น

ศัพท์จำพวกนี้มีลักษณะพิเศษ คือเมื่อเปลี่ยนรูป (แจกวิภัตติ) เป็น มโน เจโต ตโม เตโช ยโส แล้วไปต่อเข้ากับศัพท์อื่น จะคงรูปที่เปลี่ยนนี้ไว้ ดังเช่นคำว่า –

มน > มโน + ธรรม = มโนธรรม

เจต > เจโต + วิมุติ = เจโตวิมุติ

ตม > ตโม + นุท = ตโมนุท (ดวงอาทิตย์)

เตช > เตโช + ชัย = เดโชชัย

ยส > ยโส + ธร = ยโสธร

คำว่า “ยโสธร” แปลว่า “ผู้ทรงไว้ซึ่งยศ” คือผู้มียศ

ผู้มียศมักจะวางท่าโอ่อ่าภาคภูมิ อาจทำให้เป็นที่หมั่นไส้ของคนทั้งหลาย จึงถูกเรียกประชดว่า “พวกยโสธร” แล้วกร่อนลงมาเหลือเพียง “ยโส

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ยโส : (คำกริยา) เย่อหยิ่งเพราะถือตัวว่ามียศ มีปัญญา มีความรู้ มีกําลัง มีทรัพย์ ฯลฯ.”

(๒) “โอหัง

พจน.54 บอกไว้ว่า –

โอหัง : (คำกริยา) แสดงกิริยาวาจาหยิ่งยโส.”

พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกว่า “โอหัง” เป็นภาษาอะไร

ในระหว่างที่ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่า “โอหัง” เป็นภาษาอะไรนี้ ผู้เขียนบาลีวันละคำขอสันนิษฐานไปพลางๆ ว่า “โอหัง” น่าจะตัดมาจากคำว่า “อหังการ

อหังการ” บาลีเป็น “อหงฺการ” (อะ-หัง-กา-ระ) ประกอบด้วย อหํ + การ

อหํ” เป็นสรรพนามเรียกตัวผู้พูดเอง (เอกพจน์ ประธานของประโยค) แปลว่า ข้าพเจ้า ข้า กู (ตามสถานะ)

การ” รากศัพท์คือ กรฺ ธาตุ ยืดเสียงเป็น การ แปลว่า การกระทำ, งาน, สิ่งหรือเรื่องที่ทํา

อหํ + การ แปลงนิคหิตที่ –หํ เป็น งฺ = อหงฺการ แปลตามศัพท์ว่า “อาการเป็นเหตุให้ทำตนว่าข้า” = การทำความยึดมั่นว่าตัวข้า

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อหงฺการ” ว่า selfishness, egotism, arrogance (ความเห็นแก่ตัว, ลัทธิอัตนิยม, ความยโส)

ภาษาไทยใช้ว่า “อหังการ” อ่านว่า อะ-หัง-กาน บางทีออกเสียงเป็น อะ-หัง-กา = อหังการ์ (ร์ การันต์)

พจน.54 บอกไว้ว่า –

อหังการ : (คำนาม) การยึดว่าเป็นตัวเรา; ความเย่อหยิ่งจองหอง, ความทะนงตัว, ความก้าวร้าวด้วยการถือว่าตนเองสำคัญ (คำกริยา) หยิ่ง, จองหอง, อวดดี. (ป., ส.).”

อหังการ” เมื่อพูดควบกับ “ยโส” เป็น “ยโสอหังการ” แล้วกร่อนเป็น “ยโสอหัง” แล้วแปลงเสียง อะ-หัง เป็น โอ-หัง เพื่อให้คล้องจองกับ ยโส จึงเป็น “ยโสโอหัง

มีคำเทียบการกลายเสียงทำนองนี้ คือ คำว่า “สาหัสสากรรจ์” (แสนสาหัส, ร้ายแรงมาก, คอขาดบาดตาย, ลำบากยิ่ง)

สาหัสสากรรจ์” คำเดิมมาจาก สาหัส + ฉกรรจ์ = สาหัสฉกรรจ์ แล้วแปลง ฉกรรจ์ เป็น “สากรรจ์” เพื่อให้ล้อเสียงกับ “สาหัส” จึงเป็น “สาหัสสากรรจ์

สาหัสฉกรรจ์ > สาหัสสากรรจ์ ฉันใด

ยโสอหัง (-การ) > ยโสโอหัง ฉันนั้น

โปรดระลึกว่า ข้อสันนิษฐานนี้เป็นการ “ลากเข้าวัด” อย่างขอไปทีเท่านั้น ทั้งนี้จนกว่าจะมีพยานหลักฐานยืนยันเป็นอย่างอื่น

ยโส” คำเดียว และ “โอหัง” คำเดียว มีเก็บไว้ใน พจน.54

ยโสโอหัง” ยังไม่ได้เก็บไว้ แต่เป็นคำที่พูดกันอยู่ทั่วไป

…………

ดูก่อนภราดา!

: ไม่มีผู้แพ้ ท่านจะชนะได้อย่างไร

: ไม่มีผู้น้อย ท่านจะใหญ่กับใคร

: ไม่มีคนนอบน้อม ท่านจะไปทำยโสโอหังที่ไหน

: ไม่มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ท่านจะอยู่เป็นคนไปทำไม?

15-9-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย