บาลีวันละคำ

ประทุษร้าย (บาลีวันละคำ 1,575)

ประทุษร้าย

บาลีสันสกฤตประสมไทย

อ่านว่า ปฺระ-ทุด-สะ-ร้าย

ประกอบด้วย ประทุษ + ร้าย

(๑) “ประทุษ

บาลีเป็น “ปทุฏฺฐ” (ปะ-ทุด-ถะ) รากศัพท์มาจาก (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + ทุสฺ (ธาตุ = โกรธ, เกลียดชัง, ร้าย) + ปัจจัย, แปลง สฺ ที่สุดธาตุกับ เป็น ฏฺฐ

: + ทุสฺ = ปทุสฺ + = ปทุสต > ปทุฏฺฐ แปลตามศัพท์ว่า “ทำร้ายแล้ว” นักเรียนบาลีนิยมแปลออกศัพท์เต็มรูปว่า “ผู้อันกิเลสประทุษร้ายแล้ว” คือ ปกติผู้นั้นดำรงสภาพอยู่ตามธรรมดา แต่เมื่อใดถูกกิเลสเช่นโทสะเป็นต้นเข้ามาทำร้ายจิต เมื่อนั้นเขาย่อมร้ายขึ้นมา

ปทุฏฺฐ” หมายถึง ประทุษร้าย, ทำให้เลว, ทำให้เสีย, ชั่วช้า, เลวทราม (made bad, spoilt, corrupt, wicked, bad)

ปทุฏฺฐ” ในบาลีเป็น “ปทุษฺฐ” ในสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ไม่ได้เก็บคำว่า “ปทุษฺฐ” ไว้ แต่มีคำว่า “ทุษฺฐ” ซึ่งความหมายไม่ต่างกัน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ทุษฺฐ : (คำคุณศัพท์) ทราม, ไม่ดี, ประพฤตไม่เรียบร้อย, มีวิจารอันทรามหรือประพฤตแต่ในทางที่ผิด, หนักในอกุศล, ตกไปในความชั่วความระยำ; ill, bad, ill-behaved, unprincipled, depraved, given up to vice or extreme wickedness; – (กริยาวิเศษณ์) มิชอบ, มิบังควร, ผิด, ไม่ถูก; improperly, incorrectly.”

ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ประทุษ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ประทุษ : (คำกริยา) ทําร้าย, ทําชั่ว, ทําเลวทราม, ทําผิด, เบียดเบียน. (ส.).”

(๒) “ร้าย” เป็นคำไทย พจน.54 บอกไว้ดังนี้ –

ร้าย : (คำวิเศษณ์) ดุ เช่น ใจร้าย, ชั่ว เช่น ปากร้าย คนร้าย, ไม่ดี เช่น เคราะห์ร้าย โชคร้าย ชะตาร้าย; ที่เป็นอันตราย เช่น พิษร้าย เนื้อร้าย โรคร้าย.น. ความไม่ดี เช่น ใส่ร้าย ป้ายร้าย ให้ร้าย.”

ประทุษ + ร้าย = ประทุษร้าย

พจน.54 บอกไว้ดังนี้ –

ประทุษร้าย : (คำกริยา) ทําให้บาดเจ็บ เช่น ประทุษร้ายร่างกาย, ทําให้เสียหาย เช่น ประทุษร้ายทรัพย์สิน; (คำที่ใช้ในกฎหมาย) ทําร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ.”

สันนิษฐาน :

ประทุษร้าย” เป็นคำประสมข้ามสายพันธุ์ คือบาลีสันสกฤตประสมกับคำไทย และน่าจะเป็นคำประสมโดยไม่เจตนา

คือเดิมอาจารย์ทางภาษาคงจะเขียนคำต่างๆ เป็นศัพท์และคำแปลคู่กัน คำว่า “ประทุษ” ก็เขียนคำแปลว่า “ร้าย” คือเขียนว่า

ประทุษ = ร้าย

หมายถึง “ประทุษ” แปลว่า “ร้าย

แต่เวลาอ่าน อาจจะอ่านว่า ปฺระ-ทุด-สะ (เว้นวรรค) — ร้าย

ครั้นอ่านเร็ว ไม่มีเว้นวรรค เสียงอ่านก็กลายเป็น ปฺระ-ทุด-สะ-ร้าย

จนในที่สุด คำศัพท์และคำแปลกลายเป็นคำเดียวกัน เป็น “ประทุษร้าย” ไปด้วยประการฉะนี้

อย่างไรก็ตาม ไม่ควรเชื่อข้อสันนิษฐานนี้ทันที เพราะอาจผิดก็ได้

……………

: การเชื่ออย่างงมงาย

: คือการประทุษร้ายสติปัญญาตัวเอง

26-9-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย