บาลีวันละคำ

ปญฺจสต – ห้าร้อย (บาลีวันละคำ 1,587)

ปญฺจสตห้าร้อย

แปลว่าเท่าไร

ในคัมภีร์บาลีมีคำที่แปลเป็นไทยว่า “ห้าร้อย” อยู่ทั่วไป “ห้าร้อย” คำบาลีว่า “ปญฺจสต” (ปัน-จะ-สะ-ตะ) (อาจมีรูปศัพท์เป็นอย่างอื่นอีก แต่คำหลักคือ “ปญฺจสต”)

ปญฺจสต” ประกอบด้วย ปญฺจ + สต

(๑) “ปญฺจ” เขียนแบบไทยเป็น “ปัญจ” (ปัน-จะ) แปลว่า ห้า (จำนวน 5 > number 5)

ปญฺจ” ก็คือที่เราเอามาใช้ในภาษาไทยว่า “เบญจ” (เบน-จะ) นั่นเอง

(๒) “สต” (สะ-ตะ) แปลว่า ร้อย (จำนวน 100)

สต” สันสกฤตเป็น “ศต” (บาลี เสือ สันสกฤต ศาลา) คำที่เราคุ้นในภาษาไทย เช่น “ศตวรรษ” (สะ-ตะ-วัด) แปลว่า รอบ 100 ปี ก็มาจาก ศต < สต คำนี้

ทั้ง “ปญฺจ” และ “สต” ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “สังขยา” คือคำบอกจำนวน (number)

คำว่า “สังขยา” เรามักนึกไปถึงขนมชนิดหนึ่ง ในที่นี้ได้ใส่คำในวงเล็บว่า (number) ไว้เป็นการป้องกันความเข้าใจผิด นี่เป็นเหตุผลที่ “บาลีวันละคำ” มักวงเล็บคำอังกฤษควบไว้กับคำแปลด้วย เวลานี้คนไทยเห็นคำอังกฤษแล้วเข้าใจความหมายได้ชัดดีขึ้นกว่าคำแปลเป็นไทยอย่างเดียว

ปญฺจ + สต = ปญฺจสต แปลตามจำนวนว่า “ห้าร้อย” ดูตามนี้ชวนให้เข้าใจว่าเป็นการแปลจากหน้าไปหลังตรงตัวเหมือนภาษาไทย

ปญฺจ = ห้า

สต = ร้อย

ปญฺจสต = ห้า > ร้อย

แต่ในภาษาบาลีไม่ได้แปลแบบนี้ หากแต่แปลจากหลังมาหน้า คือแปลว่า “ร้อย (ทั้งหลาย) ห้า” เพราะก่อนจะมาเป็น “ปญฺจสต” ท่านกระจายคำออกเป็น “ปญฺจ สตานิ” (ปัน-จะ สะ-ตา-นิ) แปลจากหลังมาหน้าว่า –

สตานิ = ร้อยทั้งหลาย

ปญฺจ = ห้า

“ร้อยทั้งหลาย” หมายความว่า ไม่ใช่มีแค่ “ร้อยเดียว” แต่มีหลายร้อย

หลายร้อยคือกี่ร้อย?

คำขยายที่เป็นคำตอบคือ “ปญฺจ = ห้า” = 500

เพราะฉะนั้น “ปญฺจสต” แปลตามศัพท์ว่า“ร้อยห้า” แต่ไม่ใช่จำนวน 105 เพราะไม่ใช่ร้อยเดียว + 5 หากแต่เป็น “ร้อยทั้งหลาย” x 5 = 500

ปญฺจสต = ร้อยห้า > ห้าร้อย” เป็นสำนวนในภาษาบาลี ไม่ได้หมายความว่านับจำนวนได้ 500 เต็มๆ ตรงตัว หากแต่หมายถึง “มีจำนวนมาก” คือเมื่อต้องการจะบอกว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น คน หรือฝูงสัตว์ มีจำนวนมากมาย ภาษาบาลีนิยมใช้คำว่า “ปญฺจสต” (ห้าร้อย) หรือ “ปญฺจสตมตฺต” (ประมาณห้าร้อย)

เพราะฉะนั้น เมื่อไปเห็นจำนวน “ห้าร้อย” ในภาษาบาลี จงอย่ามัวถามหาข้อเท็จจริงว่ามีจำนวน 500 จริงหรือ เพราะคำนั้นหมายถึง “จำนวนมาก” (“a lot”) นั่นเอง

ภาษาไทยก็มีสำนวนแบบนี้ เช่นคำว่า “ขอให้มีอายุยืนหมื่นปี

ถ้าเอาข้อเท็จจริงเข้าไปจับ ก็จะมองไปว่าเป็นคำพูดเพ้อเจ้อ เป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าเข้าใจความหมายของ “สำนวนภาษา” และเจตนาของถ้อยคำ ก็จะเข้าใจได้ว่า “หมื่นปี” ไม่ได้หมายถึงวันเวลาที่มีจำนวน 10,000 ปี หากแต่หมายถึง “เวลาอันยืนยาว” นั่นเอง

………..

: ฟังความ อย่าติดอยู่แค่คำ

: ฟังธรรม อย่าติดอยู่แค่คน

8-10-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย