ธรรมจักษุ (บาลีวันละคำ 1,588)
ธรรมจักษุ
อ่านว่า ทำ-มะ-จัก-สุ
ประกอบด้วย ธรรม + จักษุ
(๑) “ธรรม”
บาลีเป็น “ธมฺม” (ทำ-มะ) รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ธ) และ ร ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)
: ธรฺ > ธ + รมฺม > มฺม : ธ + มฺม = ธมฺม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “กรรมที่ทรงไว้ซึ่งความดีทุกอย่าง” (หมายถึงบุญ)
(2) “สภาวะที่ทรงผู้ดำรงตนไว้มิให้ตกไปในอบายและวัฏทุกข์” (หมายถึงคุณธรรมทั่วไปตลอดจนถึงโลกุตรธรรม)
(3) “สภาวะที่ทรงไว้ซึ่งสัตว์ผู้บรรลุมรรคเป็นต้นมิให้ตกไปในอบาย” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)
(4) “สภาวะที่ทรงลักษณะของตนไว้ หรืออันปัจจัยทั้งหลายทรงไว้” (หมายถึงสภาพหรือสัจธรรมทั่วไป)
(5) “สภาวะอันพระอริยะมีโสดาบันเป็นต้นทรงไว้ ปุถุชนทรงไว้ไม่ได้” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)
คำแปลตามศัพท์ที่เป็นกลางๆ “ธมฺม” คือ “สภาพที่ทรงไว้”
“ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –
(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม
(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า
(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม
(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม
(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม
(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ
(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ
(8) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม
ในคำว่า “ธรรมจักษุ” นี้ “ธรรม” หมายถึง ความจริงอันเป็นสภาวะของสิ่งต่างๆ
(๒) “จักษุ”
บาลีเป็น “จกฺขุ” (จัก-ขุ) รากศัพท์มาจาก จกฺขฺ (ธาตุ = ดู, เห็น) + อุ ปัจจัย
: จกฺขฺ + อุ = จกฺขุ แปลตามศัพท์ว่า (1) “อวัยวะที่ดู คือยินดีรูป” (2) “อวัยวะที่มองเห็นได้” หมายถึง ดวงตา, นัยน์ตา, ประสาทตา
“จกฺขุ” สันสกฤตเป็น “จกฺษุสฺ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า
“จกฺษุสฺ : (คำนาม) ‘จักษุส,’ จักษุ, ตา; the eye.”
ธมฺม + จกฺขุ = ธมฺมจกฺขุ > ธรรมจักษุ แปลว่า –
(1) “ดวงตาอันเห็นซึ่งธรรม”
(2) “ดวงตากล่าวคือโสดาปัตติมรรค”
(3) “ดวงตาอันสำเร็จด้วยธรรม”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ธมฺมจกฺขุ” ว่า “the eye of wisdom,” perception of the law of change (“ดวงตาคือปัญญา”, การรู้กฎแห่งการเปลี่ยนแปลง) และไขความว่า the “opening of the eyes” (การทำให้ตาสว่าง คือ “ดวงตาเห็นธรรม”)
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต แปล “ธมฺมจกฺขุ” ว่า –
“ธรรมจักษุ (Dhammacakkhu) the Eye of Truth; the Eye of Wisdom.”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
“ธรรมจักษุ : ดวงตาเห็นธรรม คือปัญญารู้เห็นความจริงว่า สิ่งใดก็ตามมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา; ธรรมจักษุโดยทั่วไป เช่น ที่เกิดแก่ท่านโกณฑัญญะเมื่อสดับธรรมจักร ได้แก่โสดาปัตติมรรคหรือโสดาปัตติมัคคญาณ คือญาณที่ทำให้เป็นโสดาบัน.”
ลักษณะของ “ธรรมจักษุ” :
๑. คำว่า “เห็นธรรม” หมายถึงเห็นว่า “ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ” (สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา)
๒. “ดวงตาเห็นธรรม” ไม่ใช่แค่อ่านข้อความ “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา” ออก ท่องจำได้ รู้ความหมาย อธิบายได้ แต่หมายถึงต้องสัมผัสได้ด้วยใจ
อุปมาเหมือนรู้ “รสเปรี้ยว” ไม่ใช่แค่อ่านคำว่า “รสเปรี้ยว” ออก บอกอาการเปรี้ยวได้ นึกได้ในความรู้สึก แต่หมายถึงต้องได้ลิ้ม “รสเปรี้ยว” ด้วยประสาทลิ้นมาแล้วจริงๆ
๓. คุณสมบัติเฉพาะของ “ธรรมจักษุ” คือ “วิรชํ วีตมลํ” (ปราศจากธุลี ไม่มีมลทิน)
นั่นแลจึงจะเป็น “ธรรมจักษุ”
…………
ดูก่อนภราดา!
: ธรรมมีอยู่
: ดวงตาก็มีอยู่
แต่ไฉนสูจึงไม่มองเห็นธรรม?
9-10-59