ปฏิทิน (บาลีวันละคำ 839)
ปฏิทิน
ภาษาไทยอ่านว่า ปะ-ติ-ทิน
บาลีอ่านว่า ปะ-ติ-ทิ-นะ
ประกอบด้วย ปฏิ + ทิน
“ปฏิ” เป็นคำอุปสรรค ใช้นำหน้าคำอื่น มีความหมายว่า เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ ในที่นี้น้ำหนักของความหมายอยู่ที่ “เฉพาะ” หรือ “กลับ”
“ทิน” (ทิ-นะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) ทา (ธาตุ = ให้) + อิน ปัจจัย, ลบ อา (ที่ ทา)
: ทา > ท + อิน = ทิน แปลตามศัพท์ว่า “ช่วงเวลาที่ให้ความพยายามและความยืนหยัด” ความหมายนี้หมายถึง “กลางวัน” อันเป็นช่วงเวลาที่คนทั้งหลายลุกขึ้นมาทำการงาน
(2) ทิวุ (ธาตุ = รื่นเริง, สนุกสนาน) + อ ปัจจัย, แปลง วุ (ที่ ทิวุ) เป็น นฺ
: ทิวุ > ทิน + อ = ทิน แปลตามศัพท์ว่า “ช่วงเวลาเป็นที่รื่นเริง” ความหมายนี้ก็หมายถึง “กลางวัน” อันเป็นช่วงเวลาที่มีแสงสว่าง พ้นจากเวลาที่มืดมิด ทำให้เกิดอาการกระปรี้กระเปร่า
(3) ที (ธาตุ = สิ้นไป) + อิน ปัจจัย, ลบ อี (ที่ ที)
: ที > ท + อิน = ทิน แปลตามศัพท์ว่า “ช่วงเวลาเป็นเหตุสิ้นไปแห่งอายุ” ความหมายนี้หมายถึงทั้งกลางวันและกลางคืน คือที่เรียกรวมว่า “วัน” เมื่อวันล่วงไปๆ อายุ คือช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่ ก็หมดไป
สรุปว่า “ทิน” หมายถึง วัน, กลางวัน (day)
ปฏิ + ทิน = ปฏิทิน ควรจะแปลว่าอย่างไร ?
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ปฏิทิน : (คำนาม) แบบสําหรับดูวัน เดือน ปี. (ป.; ส. ปฺรติทิน ว่า เฉพาะวัน, สําหรับวัน)”
พจน.54 บอกว่า ปฏิทิน สันสกฤตเป็น “ปฺรติทิน” บอกความหมายว่า เฉพาะวัน, สําหรับวัน
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
() ปฺรติทิน : (กริยาวิเศษณ์) ทุกวัน, ทุกๆ วัน; every day, day by day.
() ปฺรติทิวนฺ, ปฺรติทีวนฺ : (คำนาม) พระอาทิตย์, วัน; the sun, the day.
“ปฏิ” ในภาษาบาลีเมื่อใช้ในความหมายเกี่ยวกับ “เวลา” หรือ “ระยะเวลาของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง” จะมีความหมายว่า –อีก (again), ครั้งที่สอง (a second time) หรือตรงกับ re- ในภาษาอังกฤษ เช่น :
– ปฏิทสฺเสติ (ปะฏิทัสเสติ) = ปรากฏขึ้นอีก (reappear)
– ปฏิสญฺชีวิต (ปะฏิสัญชีวิตะ) = ถูกชุบชีวิตขึ้นมาใหม่ (resuscitated)
– ปฏิสนฺธิ (ปะฏิสันธิ) = กลับมาเกิดอีก (reincarnation)
ดังนั้น “ปฏิทิน” จึงสามารถแปลได้อีกว่า วันที่กลับมาใหม่, วันที่ปรากฏขึ้นอีก คือหมดวันหนึ่งแล้วก็มีวันใหม่เกิดขึ้นอีกเรื่อยๆ
: สัตว์มันเกิดมากินๆ นอนๆ แล้วก็ตายไป
: คนที่เกิดมากินๆ นอนๆ แล้วก็ตายไป ก็ไม่ต่างจากสัตว์
: ทำความดีไว้-ดีกว่าสัตว์
: ทำความชั่วไว้-เลวกว่าสัตว์
————–
(ตามคำขอของพระคุณท่าน Phra Kanchit Thammateepo)
#บาลีวันละคำ (839)
4-9-57