บาลีวันละคำ

มรสุม (บาลีวันละคำ 840)

มรสุม

(เหมือนจะเป็นคำบาลี แต่มิใช่)

อ่านว่า มอ-ระ-สุม

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มรสุม : (คำนาม) คราว; คราวลม, คราวพายุ; ลมฝน; ชื่อพายุใหญ่ที่มีลมแรงและมีฝนตกหนัก, โดยปริยายหมายถึงความยุ่งยากเดือดร้อนที่เกิดในบางช่วงชีวิต เช่น มรสุมชีวิต. (เทียบ อา. mausim)”

“(เทียบ อา. mausim)” คือ พจน.54 บอกว่าคำว่า “มรสุม” เสียงใกล้เคียงกับคำอาหรับว่า mausim หรือจะว่า มรสุม มาจาก mausim นั่นเอง

ผู้เขียนบาลีวันละคำยังไม่มีข้อมูลว่า mausim ในภาษาอาหรับหมายถึงอะไร

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล “มรสุม” เป็นภาษาอังกฤษว่า –

(1) a monsoon (ม็อนซูน-) ลมมรสุม, มรสุมฤดูฝน, ฤดูฝน

(2) a storm (ซทอม) (1) พายุ, (ลม) พัดแรง, มีพายุจัด (2) (ชีวิต) เต็มไปด้วยความลำบาก, ความโกลาหล, กลียุค

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล monsoon เป็นบาลีว่า –

(1) vassānakāla วสฺสานกาล (วัด-สา-นะ-กา-ละ) = ฤดูฝน

(2) meghasamaya เมฆสมย (เม-คะ-สะ-มะ-ยะ) = คราวฟ้าครึ้มฝน

และแปล storm เป็นบาลีว่า –

(1) caṇḍavāta จณฺฑวาต (จัน-ดะ-วา-ตะ) = ลมร้าย

(2) mahāmegha มหาเมฆ (มะ-หา-เม-คะ) = ฟ้ามืดทะมึน

(3) saṅkhobha สงฺโขภ (สัง-โข-พะ) = ความไหวหวั่นปั่นป่วน

(4) omaddana โอมทฺทน (โอ-มัด-ทะ-นะ) = การกระหน่ำลงมา (อย่างไม่ปรานี)

(5) vegena vuṭṭhi เวเคน วุฏฺฐิ (เว-เค-นะ วุด-ถิ) = แรงลมฝน

สรุปว่า –

(1) คำว่า “มรสุม” อาจมาจากภาษาอาหรับว่า mausim (ตาม พจน.54) หรือมาจากภาษาอังกฤษว่า monsoon (ตาม พจน.สอ เสถบุตร) เป็นปัญหาที่ควรสืบค้นต่อไป

(2) ความหมายของ “มรสุม” ในภาษาไทย อาจแปลเป็นบาลีได้หลายคำ แต่ไม่มีคำใดที่มีรูปและเสียงใกล้เคียงกับ “มรสุม

(3) “มรสุม” จึงไม่ใช่คำบาลี

: มรสุมคือส่วนล่วงหน้าของความสำเร็จ

: ต้อนรับมรสุมให้เด็ดๆ ความสำเร็จก็จะตามมา

————-

(ตามคำขอของ ผจญ จอจาน ผู้ผจญมรสุมมาอย่างโชกโชน)

#บาลีวันละคำ (840)

5-9-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *