อุปสรรค (บาลีวันละคำ 841)
.
อุปสรรค
อ่านว่า อุ-ปะ-สัก ก็ได้ อุบ-ปะ-สัก ก็ได้
บาลีเป็น “อุปสคฺค” อ่านว่า อุ-ปะ-สัก-คะ
ประกอบด้วย อุป + สคฺค
“อุป” (อุ-ปะ) เป็นคำที่ในภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “อุปสรรค” มีความหมายว่า เข้าไป, ใกล้, มั่น
“สคฺค” (สัก-คะ) รากศัพท์มาจาก สชฺ (ธาตุ = ขัดข้อง, ขวาง, ชี้แจง) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลง ช เป็น ค, ซ้อน ค
: สชฺ > สค + ค = สคฺค + ณ = สคฺค แปลตามศัพท์ว่า (1) “ภาวะที่ขัดขวางประโยชน์” (2) “ชี้แจงความหมาย”
อุป + สคฺค = อุปสคฺค หมายถึง (1) เครื่องกีดขวาง, อุปสรรค, ความยุ่งยาก, อันตราย (attack, trouble, danger) (2) ศัพท์เฉพาะทางไวยากรณ์ คือ อุปสรรค, บุรพบท (prefix, preposition)
“อุปสคฺค” สันสกฤตเป็น “อุปสรฺค” ภาษาไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “อุปสรรค”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “อุปสรรค” ไว้ว่า –
(1) เครื่องขัดข้อง, ความขัดข้อง, เครื่องขัดขวาง. (ส. อุปสรฺค; ป. อุปสคฺค)
(2) คำสำหรับใช้เติมข้างหน้าคำนามหรือคำกริยาที่เป็นรูปคำบาลีหรือสันสกฤตให้มีความหมายแผกเพี้ยนไปจากเดิม หรือมีความหมายตรงข้ามกับความหมายเดิมเป็นต้น และถือเป็นคำเดียวกับคำนามหรือคำกริยานั้น เพราะตามปรกติจะไม่ใช้ตามลำพัง เช่น วัฒน์ = เจริญ : อภิวัฒน์ = เจริญยิ่ง. ปักษ์ = ฝ่าย : ปฏิปักษ์ = ฝ่ายตรงข้าม, ข้าศึก, ศัตรู.
เสริมความรู้ : อุปสรรค 20 คำในบาลีที่ควรรู้ความหมายไว้
อติ = ยิ่ง, เกิน, ล่วง
อธิ = ยิ่ง, ใหญ่, ทับ
อนุ = น้อย, ภายหลัง, ตาม
อป = ปราศจาก, หลีก
อปิ หรือ ปิ = ใกล้, บน
อภิ = ยิ่ง, ใหญ่, จำเพาะ, ข้างหน้า
อว หรือ โอ = ลง
อา = ทั่ว, ยิ่ง, กลับความ (กลับความ เช่น คม = ไป : อาคม = มา)
อุ = ขึ้น, นอก
อุป = เข้าไป, ใกล้, มั่น
ทุ = ชั่ว, ยาก
นิ = เข้า, ลง
นิ = ไม่มี, ออก
ป = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก
ปฏิ = เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ
ปรา = กลับความ (เช่น ชย = ชนะ : ปราชย = แพ้)
ปริ = รอบ
วิ = วิเศษ, แจ้ง, ต่าง
สํ = พร้อม, กับ, ดี
สุ = ดี, งาม, ง่าย
: แพ้ก็ยังสู้กับอุปสรรคไม่ลดละ
: มีเกียรติกว่าชนะแล้วไม่กล้าสู้กับอะไร
#บาลีวันละคำ (841)
6-9-57