ประโยชน์ (บาลีวันละคำ 849)
ประโยชน์
อ่านว่า ปฺระ-โหฺยด
บาลีเป็น “ปโยชน” อ่านว่า ปะ-โย-ชะ-นะ
“ปโยชน” รากศัพท์คือ ป (คำอุปสรรค = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + ยุชฺ (ธาตุ = ประกอบ) + ยุ ปัจจัย, แผลง อุ (ที่ ยุชฺ) เป็น โอ, แปลง ยุ ปัจจัยเป็น อน (อะ-นะ)
: ป + ยุชฺ > โยช = ปโยช + ยุ > อน = ปโยชน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่พึงประกอบ”
“ปโยชน” สันสกฤตเป็น “ปฺรโยชน” สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า (สะกดตามต้นฉบับ) –
“ปฺรโยชน : (คำนาม) ‘ประโยชน์’, เหตุ; อวกาศหรือโอกาศ; มูล; การย์; ทรัพย์หรือพัสดุ; ความมุ่งหมาย, จินดาหรืออุบายในใจ cause; occasion; origin; purpose; object; intention; design.
ในภาษาไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ประโยชน์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ประโยชน์ : (คำนาม) สิ่งที่มีผลใช้ได้ดีสมกับที่คิดมุ่งหมายไว้, ผลที่ได้ตามต้องการ, สิ่งที่เป็นผลดีหรือเป็นคุณ, เช่น ประโยชน์ของการศึกษา ประโยชน์ของโรงเรียน. (ส. ปฺรโยชน; ป. ปโยชน).”
“ปโยชน” ในภาษาบาลีมีความหมายมากกว่าที่เข้าใจกันในภาษาไทย คือหมายถึง –
(1) การประกอบการ, ธุรกิจ (undertaking, business)
(2) การแต่งตั้ง, การกำหนด (appointment)
(3) กฎ, คำสั่ง, ข้อห้าม (prescript, injunction)
(4) ความประสงค์, การประยุกต์ใช้, การใช้ให้เป็นประโยชน์ (purpose, application, use)
: ถ้ายังตัดประโยชน์ส่วนตัวได้ไม่เด็ดขาด
: อย่าบังอาจอาสาเข้าไปทำงานเพื่อบ้านเมือง
#บาลีวันละคำ (849)
14-9-57