บาลีวันละคำ

ราชพลี (บาลีวันละคำ 1,598)

ราชพลี

หมายถึงอะไร

อ่านตามภาษาไทยว่า ราด-ชะ-พะ-ลี

อ่านตามภาษาบาลีว่า รา-ชะ-พะ-ลี

ราชพลี” ประกอบด้วย ราช + พลี

(๑) “ราช

บาลีอ่านว่า รา-ชะ แปลตามรากศัพท์ว่า –

(1) “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก

ความหมายนี้ประกอบขึ้นจาก ราชฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + (ปัจจัย) = ราช

หมายความว่า ผู้เป็นพระราชาย่อมมีเดชานุภาพมากกว่าคนทั้งหลาย

(2) “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี

ความหมายนี้ประกอบขึ้นจาก รญฺชฺ (ธาตุ = ยินดี พอใจ) + (ปัจจัย) ลบ ลบ ญฺ แผลง เป็น รา = ราช

หมายความว่า เป็นผู้อำนวยความสุขให้ทวยราษฎร์ จนคนทั้งหลายร้องออกมาว่า “ราชา ราชา” (พอใจ พอใจ)

ราช” หมายถึง พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน ใช้นำหน้าคำให้มีความหมายว่า เป็นของพระเจ้าแผ่นดิน, เกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน หรือเป็นของหลวง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ราช ๑, ราช– : (คำนาม) พระเจ้าแผ่นดิน, พญา (ใช้แก่สัตว์) เช่น นาคราช คือ พญานาค สีหราช คือ พญาราชสีห์, คํานี้มักใช้ประกอบกับคําอื่น, ถ้าคําเดียวมักใช้ว่า ราชา.”

(๒) “พลี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “พลี” ไว้ 3 คำ บอกไว้ดังนี้ –

(1) พลี ๑ อ่านว่า พะ-ลี เป็นคำนาม หมายถึง การบวงสรวง, เครื่องบวงสรวง, ส่วย, การบูชา

(2) พลี ๒ อ่านว่า พฺลี (พฺล ควบกล้ำ) เป็นคำกริยา หมายถึง (1) เสียสละ เช่น พลีชีพเพื่อชาติ (2) บวงสรวงเชิญเอามา (ใช้แก่ยาสมุนไพร) เช่น ไปพลียาที่ต้นเทียน คือ ไปบวงสรวงเก็บต้นเทียนหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของต้นเทียนมาทำยารักษาโรค

(3) พลี ๓ อ่านว่า พะ-ลี เป็นคำวิเศษณ์ หมายถึง มีกําลัง

พลี” บาลีว่าอย่างไร

(๑) “พลี” ตามข้อ (1) บาลีเป็น “พลิ” อ่านแยกเป็น 2 พยางค์ คือ พะ-ลิ (เขียนเป็นอักษรโรมันจะเห็นชัด คือ BALI : BA = พะ LI = ลิ) มีความหมาย 3 อย่าง คือ –

1 เครื่องบวงสรวง, เครื่องเซ่น (religious offering, oblation)

2 ภาษี, อากร (tax, revenue)

3 ชื่อของอสูรตนหนึ่ง (proper name, proper noun of an Asura)

(๒) “พลี” ตามข้อ (2) ไม่มีในบาลี สันนิษฐานว่าเป็น “พลี” ตามข้อ (1) นั่นเอง แต่เอามาใช้ตามความหมายของไทย คือ การจัดสรรทรัพย์หรือสิ่งของเพื่อบูชา สงเคราะห์ หรือเพื่ออุทิศ อย่างใดอย่างหนึ่ง เราให้ความหมายว่า “เสียสละ” ส่วนที่อ่านว่า พฺลี (พฺล ควบกล้ำ ไม่ใช่ พี และไม่ใช่ พะ-ลี) ก็คงเกิดจากการอ่านตามความเข้าใจของบางคน แล้วกลายเป็นความนิยมไป คือผิดจนถูกไปแล้ว

(๓) “พลี” ตามข้อ (3) ศัพท์เดิมก็คือ “พล” (พะ-ละ) ที่แปลว่า “กำลัง” (strength, power, force, an army, military force) เช่นคำว่า “พลศึกษา” หรือคำที่พูดควบกันว่า “พละกำลัง

: พล + อี = พลี แปลว่า “มีกำลัง” (strong) คำนี้อ่านว่า พะ-ลี 2 พยางค์แน่นอน เพราะคำเดิมคือ พะ-ละ

ในที่นี้ “พลี” ใช้ตามความหมายของบาลีในข้อ (๑)

ราช + พลี = ราชพลี

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

ราชพลี : ถวายเป็นหลวง หรือบำรุงราชการ มีเสียภาษีอากร เป็นต้น, การจัดสรรสละรายได้หรือทรัพย์ส่วนหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับช่วยราชการด้วยการเสียภาษีอากร เป็นต้น, การบริจาครายได้หรือทรัพย์ส่วนหนึ่งเพื่อช่วยเหลือกิจการบ้านเมือง (ข้อ ๔ แห่งพลี ๕ ในโภคอาทิยะ ๕)”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ราชพลี” ว่า royal tax (ภาษีหลวง)

คำว่า “ราชพลี” ไม่มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

ความเห็น :

ราช” ความหมายเดิม หมายถึงพระราชา ความหมายที่ขยายออกไป หมายถึงราชการบ้านเมือง หรือประเทศชาติ

ราชพลี” ความหมายตามรูปศัพท์ หมายถึง “การเสียสละให้แก่พระราชา” แต่โดยความหมายที่ขยายออกไป หมายถึงเสียสละเพื่อชาติบ้านเมือง

…………..

: สุดยอดของราชพลี คือการทำความดีเพื่อประเทศชาติ

: สุดยอดของข้ารองบาท คือสละชีวาตม์เป็นราชพลี

19-10-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย