บาลีวันละคำ

ปาลิไลยก์ หรือ ปาริไลยก์ (บาลีวันละคำ 1,237)

ปาลิไลยก์ หรือ ปาริไลยก์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปาลิไลยก์ : (คำนาม) ชื่อป่าแห่งหนึ่งที่พระพุทธเจ้าเสด็จอาศัยอยู่ และเป็นชื่อช้างซึ่งอยู่ในที่นั้นด้วย; พระพุทธรูปปางหนึ่ง มีรูปช้างและลิงอยู่ด้วย เรียกว่า ปางพระปาลิไลยก์. (ป.).”

คำนี้ ตรวจดูในคัมภีร์แล้วพบว่า สะกดเป็น “ปาริเลยฺยก” (ปาริ– ร เรือ) เป็นพื้น

ปาริเลยฺยก” อ่านว่า ปา-ริ-เล็ย-ยะ-กะ รากศัพท์มาจาก ปริ (รอบ, รอบๆ) + เลยฺย + (ผู้), ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ -(ริ) เป็น อา (ปริ > ปาริ)

เลยฺย” รากศัพท์มาจาก ลิหฺ (ธาตุ = ลิ้ม, เลีย, ยินดี) + ณฺย ปัจจัย, ลบ , แผลง อิ ที่ ลิ-(หฺ) เป็น เอ (ลิหฺ > เลหฺ), แปลง หฺ เป็น

: ลิหฺ + ณฺย = ลิหณฺย > ลิหย > เลหย > เลยฺย แปลตามศัพท์ว่า “ของควรลิ้มเลีย

: ปริ + เลยฺย = ปริเลยฺย > ปาริเลยฺย แปลตามศัพท์ว่า “(ป่า) อันควรลิ้มเลียไปรอบๆ

: ปาริเลยฺย + = ปาริเลยฺยก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อยู่ในป่าอันควรลิ้มเลียไปรอบๆ

ปาริเลยฺย” หรือ “ปาริเลยฺยก” เป็นชื่อป่าแห่งหนึ่ง สันนิษฐานตามรูปศัพท์ว่า น่าจะเป็นป่าที่มีดินโป่งสมบูรณ์ และเป็นที่ซึ่งมีสัตว์ป่ามากินดินโป่งเสมอ

โป่ง หรือดินโป่ง คือพื้นดินที่มีเกลือสินเธาว์ผุดเกรอะกรังอยู่ ดินโป่งมีรสเค็ม เป็นสารอาหารชนิดหนึ่งที่ร่างกายต้องการ กิริยาที่สัตว์กินดินโป่งนั้นไม่ได้กินอย่างขบเคี้ยวเหมือนกินอาหาร แต่ใช้วิธีลิ้มเลีย

น่าจะเป็นเพราะเหตุนี้ ป่าแห่งนี้จึงชื่อว่า ปาริเลยฺย หรือ ปาริเลยฺยก = ป่าอันควรลิ้มเลียไปรอบๆ

หมายเหตุ :

รากศัพท์และความหมายของศัพท์ที่แสดงไว้นี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนบาลีวันละคำ เนื่องจากในขณะที่เขียนคำนี้ยังไม่พบตำราที่แสดงรากศัพท์และความหมายไว้ตรงๆ ท่านผู้ใดพบที่มาและความหมายของศัพท์ที่แท้จริง ขอความกรุณานำมาแสดงเพื่อความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อไป

……..

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า

ปาริเลยยกะ : ชื่อแดนบ้านแห่งหนึ่งใกล้เมืองโกสัมพีที่พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปอาศัยอยู่ในป่ารักขิตวัน ด้วยทรงปลีกพระองค์จากพระสงฆ์ผู้แตกกันในกรุงโกสัมพี; ช้างที่ปฏิบัติพระพุทธเจ้าที่ป่านั้น ก็ชื่อ ปาริเลยยกะ; เราเรียกกันในภาษาไทยว่า ปาเลไลยก์ ก็มี ป่าเลไลยก์ ก็มี ควรเขียน ปาริไลยก์ หรือ ปาเรไลยก์”

……..

เหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าทรงปลีกพระองค์ไปประทับที่ป่าปาริเลยยกะครั้งนั้นเป็นเรื่องที่โด่งดังมากในสมัยพุทธกาล ในคัมภีร์เล่าไว้ว่า ระหว่างที่ประทับในป่านั้น ช้างเชือกหนึ่งมาอยู่ปฏิบัติกิจต่างๆ ถวาย วันหนึ่งมีลิงนำรวงผึ้งมาถวายด้วย การกระทำของสัตว์ทั้งสองจึงเป็นที่กล่าวขานและกลายเป็นประวัติศาสตร์ในพระพุทธศาสนามาจนทุกวันนี้

: แม้แต่สัตว์ยังทำความดีได้

: แล้วเราเป็นอะไรจึงจะไม่คิดทำ

18-10-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย