ศากยบุตร (บาลีวันละคำ 2450)
ศากยบุตร
อ่านว่า สาก-กะ-ยะ-บุด
ประกอบด้วยคำว่า ศากย + บุตร
(๑) “ศากย”
บาลีเป็น “สกฺย” อ่านว่า สัก-กฺยะ คำว่า –กฺย (มีจุดใต้ กฺ) ไม่ใช่ กะ-ยะ แต่ออกเสียง กฺ ครึ่งเสียง หรือจะอ่านว่า สัก-เกียะ ตรงๆ ก็จะได้เสียงที่ชัดขึ้น
“สกฺย” รากศัพท์มาจาก สกฺ (ธาตุ = อาจ, สามารถ) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ (ญฺย > ย)
: สกฺ + ณฺย = สกฺณฺย > สกฺย แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้สามารถ” (2) “ผู้สามารถที่จะรักษาตระกูลวงศ์ไว้ได้” (3) “ผู้เกิดในศากยตระกูลซึ่งมีมาแต่เดิม”
“สกฺย” สันสกฤตเป็น “ศากฺย”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“ศากฺย : (คำนาม) พระนามของพระพุทธเจ้า; the name of Buddha.”
จะเห็นว่า “สกฺย” รูปคำใกล้ไปทางสันสกฤต คือ “ศากฺย” แต่ก็มีรูปคำบาลีอีกรูปหนึ่งเป็น “สกฺก” (สัก-กะ) จะว่า “สกฺก” เป็นรูปบาลีแท้ ส่วน “สกฺย” เป็นรูปบาลีกลายก็ได้
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สกฺก” (คุณศัพท์) ว่า able, possible (สามารถ, เป็นไปได้)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ศากย-, ศากยะ : (คำนาม) ชื่อวงศ์กษัตริย์วงศ์หนึ่งในเมืองกบิลพัสดุ์ เรียกว่า ศากยวงศ์, เรียกกษัตริย์ในวงศ์นี้ว่า ศากยะ. (ส. ศากฺย; ป. สกฺย).”
(๒) “บุตร”
บาลีเป็น “ปุตฺต” (ปุด-ตะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) ปู (ธาตุ = สะอาด, ชำระ) + ต ปัจจัย, ซ้อน ตฺ, รัสสะ อู ที่ ปู เป็น อุ (ปู > ปุ)
: ปู + ตฺ + ต = ปูตฺต > ปุตฺต แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้เป็นเหตุให้บิดามารดาสะอาด” (คือไม่ถูกตำหนิว่าไม่มีผู้สืบสกุล) (2) “ผู้ชำระตระกูลของตนให้สะอาด” (คือทำให้ตระกูลมีผู้สืบต่อ)
(2) ปูรฺ (ธาตุ = เต็ม) + ต ปัจจัย, แปลง รฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ,(ปูรฺ > ปูตฺ), รัสสะ อู ที่ ปู-(รฺ) เป็น อุ (ปูร > ปุร)
: ปูรฺ + ตฺ = ปูรต > ปูตฺต > ปุตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังดวงใจของบิดามารดาให้เต็ม”
(3) ปุสฺ (ธาตุ = เลี้ยง) + ต ปัจจัย, ลบ สฺ ที่สุดธาตุ (ปุสฺ > ปุ), ซ้อน ตฺ
: ปุสฺ > ปุ + ตฺ + ต = ปุตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันมารดาบิดาเลี้ยงดู”
“ปุตฺต” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ลูกชาย (a son)
(2) เด็ก, ผู้สืบสกุล (child, descendant)
สกฺย + ปุตฺต = สกฺยปุตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ลูกชายของศากยะ” หมายถึง กุมารที่เกิดในศากยตระกูลโดยตรง เช่น พระพุทธเจ้า พระอนุรุทธะ พระอานนท์ เป็นต้น
“สกฺยปุตฺต” เขียนแบบไทยเป็น “ศากยบุตร”
ความหมายในภาษาบาลีและในภาษาไทย :
“สกฺยปุตฺต” หรือ “ศากยบุตร” ในภาษาบาลีหมายถึง กุมารที่เกิดในศากยตระกูลโดยตรงเท่านั้น
แต่ในภาษาไทย คำว่า “ศากยบุตร” มักใช้หมายถึงพระภิกษุ เช่นคำที่พูดว่า “ศากยบุตรพุทธชิโนรส” และ “พวกสมณะศากยบุตร”
พึงทราบว่า ในภาษาบาลี ถ้าหมายถึงภิกษุในพระพุทธศาสนา ท่านใช้คำว่า “สกฺยปุตฺติย” (สัก-เกียะ-ปุด-ติ-ยะ) แปลตามศัพท์ว่า “เชื้อสายศากยบุตร” หมายความว่า ไม่ใช่ผู้ที่เกิดในศากยตระกูลโดยตรง แต่เมื่อเข้ามาบวชเป็นภิกษุในพระศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้เป็น “ศากยบุตร” จึงได้รับการยกย่องเสมือนเป็น “ศากยบุตร” ด้วย แต่เป็น “เชื้อสายศากยบุตร” ไม่ใช่ “ศากยบุตร” โดยสายเลือด
ในภาษาบาลีแสดงความแตกต่างโดยรูปศัพท์ คือ –
“สกฺยปุตฺต” = ศากยบุตรโดยสายเลือด เกิดมาก็เป็น “ศากยบุตร” ทันที
“สกฺยปุตฺติย” = ศากยบุตรโดยเชื้อสาย ต้องเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาจึงจะเป็น “ศากยบุตร” ได้
แถม :
ตามความหมายที่พูดกันในภาษาไทย พระภิกษุสงฆ์เป็น “ศากยบุตร” แปลได้ความว่า “ลูกพระพุทธเจ้า”
ในวรรณคดีบาลีพบว่า พระพุทธองค์ตรัสเรียกภิกษุบางรูปโดยใช้คำว่า “มม ปุตฺโต” (มะ-มะ ปุด-โต) ซึ่งแปลว่า “บุตรของเรา” สอดคล้องกับคำว่า “ลูกพระพุทธเจ้า”
แต่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนว่า ภิกษุที่พระองค์ตรัสเรียกโดยใช้คำว่า “มม ปุตฺโต” นั้น ล้วนเป็นภิกษุที่ได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคลตั้งแต่โสดาบันขึ้นไปแล้วทั้งสิ้น ภิกษุปุถุชนจะไม่ทรงเรียกด้วยคำว่า “มม ปุตฺโต” เลย
ตรงกันข้าม ภิกษุปุถุชนถ้าประพฤติเสียหายอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นเหตุให้ทรงยกขึ้นตำหนิ จะทรงเรียกว่า “โมฆบุรุษ” แปลว่า “บุรุษผู้ว่างเปล่า” คือยังไม่ได้บรรลุธรรมใดๆ ในพระศาสนา
…………..
ดูก่อนภราดา!
: การครองกาสาวพัสตร์
: ไม่ใช่ตัวชี้วัดว่าเป็นลูกพระพุทธเจ้า
#บาลีวันละคำ (2,450)
26-2-62