กาลเทศะ (บาลีวันละคำ 2449)
กาลเทศะ
มีมากกว่าเวลาและสถานที่
อ่านว่า กา-ละ-เท-สะ
ประกอบด้วยคำว่า กาล + เทศะ
(๑) “กาล”
บาลีอ่านว่า กา-ละ รากศัพท์มาจาก กลฺ (ธาตุ = นับ, คำนวณ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ ก-(ลฺ) เป็น อา (กล > กาล)
: กลฺ + ณ = กลณ > กล > กาล แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องนับประมาณอายุเป็นต้น” “ถูกนับว่าล่วงไปเท่านี้แล้ว” “ยังอายุของเหล่าสัตว์ให้สิ้นไป” หมายถึง เวลา, คราว, ครั้ง, หน
“กาล” ที่หมายถึง “เวลา” (time) ในภาษาบาลียังใช้ในความหมายที่ชี้ชัดอีกด้วย คือ :
(ก) เวลาที่กำหนดไว้, เวลานัดหมาย, เวลาตายตัว (appointed time, date, fixed time)
(ข) เวลาที่เหมาะสม, เวลาที่สมควร, เวลาที่ดี, โอกาส (suitable time, proper time, good time, opportunity)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กาล ๑, กาล– : (คำนาม) เวลา, คราว, ครั้ง, หน. (ป., ส.).”
(๒) “เทศะ”
บาลีเป็น “เทส” (เท-สะ) รากศัพท์มาจาก ทิส (ธาตุ = แสดง, ชี้แจง, ประกาศ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อิ ที่ ทิ-(สฺ) เป็น เอ (ทิสฺ > เทส)
: ทิสฺ + ณ = ทิสณ > ทิส > เทส แปลตามศัพท์ว่า “ที่แสดงให้รู้” “ที่ประกาศให้ปรากฏ” หมายถึง จุด, หัวข้อ, ส่วน, สถานที่, ภาค, ถิ่น, ประเทศ (point, part, place, region, spot, country)
“เทส” ในภาษาไทยใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “เทศ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เทศ, เทศ-, เทศะ : (คำวิเศษณ์) ต่างประเทศ เช่น เครื่องเทศ ม้าเทศ. (คำนาม) ถิ่นที่, ท้องถิ่น, มักใช้เป็นส่วนหน้าสมาส.”
กาล + เทศะ = กาลเทศะ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กาลเทศะ : (คำนาม) เวลาและสถานที่; ความควรไม่ควร. (ส.).”
อภิปราย :
ความหมายของ “กาลเทศะ” ตามพจนานุกรมฯ ที่ว่า “เวลาและสถานที่” เป็นคำหมายตามศัพท์เดิม ส่วนความหมายที่ว่า “ความควรไม่ควร” เป็นความหมายในภาษาไทย อันเกิดจากการตีความ หรือเป็นความหมายที่ขยายออกไป ไม่ใช่ความหมายตามศัพท์เดิม
กล่าวคือ “กาลเทศะ” ในภาษาเดิมไม่ได้แปลว่า “ความควรไม่ควร” แต่เราแปล “กาล” ว่า เวลา แปล “เทศะ” ว่า สถานที่ แล้วตีความต่อไปว่า การกระทำใดๆ ที่เหมาะแก่เวลาและเหมาะแก่สถานที่ การกระทำนั้นๆ นับว่าเป็นความถูกความควร ส่วนการกระทำใดๆ ที่ไม่เหมาะแก่เวลาและไม่เหมาะแก่สถานที่ การกระทำนั้นๆ นับว่าเป็นความไม่ถูกไม่ควร แล้วสรุปเป็นความหมายในภาษาไทยว่า “กาลเทศะ” หมายถึง “ความควรไม่ควร” และอธิบายว่า หมายถึงเหมาะหรือไม่เหมาะแก่เวลาหรือแก่สถานที่
แต่โดยความหมายในวงกว้างแล้ว เวลา (กาล) และสถานที่ (เทศะ) เป็นเพียงตัวอย่างที่อาจพบเห็นได้ง่ายเท่านั้น ยังมีสิ่งอื่นที่ต้องนำมาพิจารณาร่วมด้วยอีก เช่น ตัวบุคคล เพศ วัย เหตุการณ์ เรื่องราว เป็นต้น เช่น เรื่องเช่นนี้ถ้าทำแก่บุคคลเช่นนี้ ไม่ว่าจะทำที่ไหนหรือในเวลาไหน ก็ไม่เหมาะทั้งนั้น เรื่องนี้ผู้ชายทำ ไม่เสียหาย แต่ผู้หญิงทำ เสียหาย เรื่องแบบนี้ชาวบ้านทำไม่เป็นไร แต่ถ้าพระภิกษุสามเณรทำ เป็นเรื่องเสื่อมเสีย เรื่องแบบนี้ถ้าเด็กทำ ไม่มีใครถือสา แต่ถ้าผู้ใหญ่ทำ ถือว่าเลวทราม – อย่างนี้เป็นต้น
“กาลเทศะ” จึงเป็นคำพิเศษ คือรูปคำเป็นบาลีสันสกฤต แต่ความหมายเป็นแบบไทย
อย่างไรก็ตาม ในพระพุทธศาสนามีหลักคำสอนหมวดหนึ่งที่นับถือกันว่าใช้เป็นเกณฑ์วัด “ความควรไม่ควร” ได้ นั่นคือผู้ใดมีคุณธรรมเหล่านี้ ผู้นั้นย่อมสามารถทำสิ่งที่ควรและหลีกเลี่ยงสิ่งที่ไม่ควรได้เป็นอันดี
ขอนำข้อความจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [287] หลักธรรมชื่อ “สัปปุริสธรรม 7” มาเสนอไว้ในที่นี้เพื่อเป็นหลักแห่งความรู้และเป็นแนวปฏิบัติ
…………..
สัปปุริสธรรม 7 (ธรรมของสัตบุรุษ, ธรรมที่ทำให้เป็นสัตบุรุษ, คุณสมบัติของคนดี, ธรรมของผู้ดี — Sappurisa-dhamma: qualities of a good man; virtues of a gentleman)
1. ธัมมัญญุตา (ความรู้จักธรรม รู้หลัก หรือ รู้จักเหตุ คือ รู้หลักความจริง รู้หลักการ รู้หลักเกณฑ์ รู้กฎแห่งธรรมดา รู้กฎเกณฑ์แห่งเหตุผล และรู้หลักการที่จะทำให้เกิดผล เช่น ภิกษุรู้ว่าหลักธรรมข้อนั้นๆ คืออะไร มีอะไรบ้าง พระมหากษัตริย์ทรงทราบว่าหลักการปกครองตามราชประเพณีเป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง รู้ว่าจะต้องกระทำเหตุอันนี้ๆ หรือกระทำตามหลักการข้อนี้ๆ จึงจะให้เกิดผลที่ต้องการหรือบรรลุจุดหมายอันนั้นๆ เป็นต้น — Dhammaññutā: knowing the law; knowing the cause)
2. อัตถัญญุตา (ความรู้จักอรรถ รู้ความมุ่งหมาย หรือ รู้จักผล คือ รู้ความหมาย รู้ความมุ่งหมาย รู้ประโยชน์ที่ประสงค์ รู้จักผลที่จะเกิดขึ้นสืบเนื่องจากการกระทำ หรือความเป็นไปตามหลัก เช่น รู้ว่าหลักธรรมหรือภาษิตข้อนั้นๆ มีความหมายว่าอย่างไร หลักนั้นๆ มีความมุ่งหมายอย่างไร กำหนดไว้หรือพึงปฏิบัติเพื่อประสงค์ประโยชน์อะไร การที่ตนกระทำอยู่มีความมุ่งหมายอย่างไร เมื่อทำไปแล้วจะบังเกิดผลอะไรบ้าง ดังนี้เป็นต้น — Atthaññutā: knowing the meaning; knowing the purpose; knowing the consequence)
3. อัตตัญญุตา (ความรู้จักตน คือ รู้ว่า เรานั้น ว่าโดยฐานะ ภาวะ เพศ กำลัง ความรู้ ความสามารถ ความถนัด และคุณธรรม เป็นต้น บัดนี้ เท่าไร อย่างไร แล้วประพฤติให้เหมาะสม และรู้ที่จะแก้ไขปรับปรุงต่อไป — Attaññutā: knowing oneself)
4. มัตตัญญุตา (ความรู้จักประมาณ คือ ความพอดี เช่น ภิกษุรู้จักประมาณในการรับและบริโภคปัจจัยสี่ คฤหัสถ์รู้จักประมาณในการใช้จ่ายโภคทรัพย์ พระมหากษัตริย์รู้จักประมาณในการลงทัณฑอาชญาและในการเก็บภาษี เป็นต้น — Mattaññutā: moderation; knowing how to be temperate; sense of proportion)
5. กาลัญญุตา (ความรู้จักกาล คือ รู้กาลเวลาอันเหมาะสม และระยะเวลาที่ควรหรือจะต้องใช้ในการประกอบกิจ ทำหน้าที่การงาน หรือปฏิบัติการต่างๆ เช่น ให้ตรงเวลา ให้เป็นเวลา ให้ทันเวลา ให้พอเวลา ให้เหมาะเวลา เป็นต้น — Kālaññutā: knowing the proper time; knowing how to choose and keep time)
6. ปริสัญญุตา (ความรู้จักบริษัท คือ รู้จักชุมชน และรู้จักที่ประชุม รู้กิริยาที่จะประพฤติต่อชุมชนนั้นๆ ว่า ชุมชนนี้เมื่อเข้าไปหา จะต้องทำกิริยาอย่างนี้ จะต้องพูดอย่างนี้ ชุมชนนี้ควรสงเคราะห์อย่างนี้ เป็นต้น — Parisaññutā: knowing the assembly; knowing the society)
7. ปุคคลัญญุตา หรือ ปุคคลปโรปรัญญุตา (ความรู้จักบุคคล คือ ความแตกต่างแห่งบุคคลว่า โดยอัธยาศัย ความสามารถ และคุณธรรม เป็นต้น ใครๆ ยิ่งหรือหย่อนอย่างไร และรู้ที่จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นๆ ด้วยดี ว่าควรจะคบหรือไม่ จะใช้ จะตำหนิ ยกย่อง และแนะนำสั่งสอนอย่างไร เป็นต้น — Puggalaññutā: knowing the individual; knowing the different individuals)
…………..
ดูก่อนภราดา!
: แค่รู้จัก “เกรงใจ”
: ก็รู้ว่าอะไรควรไม่ควร
#บาลีวันละคำ (2,449)
25-2-62