บาลีวันละคำ

ปัญหา (บาลีวันละคำ 854)

ปัญหา

อ่านว่า ปัน-หา

บาลีเขียนเป็น “ปญฺหา” อ่านว่า ปัน-หา เหมือนกัน

ปญฺหา” แปลตามศัพท์ว่า “เรื่องที่พึงถาม” “เรื่องที่คนอยากรู้

ปญฺหา” คำที่คุ้นหน้าคุ้นตา แต่มีความหมายมากกว่าที่เราคิด คือหมายถึง –

(1) คำถาม, ระบบคำถาม, แบบสอบถาม (a question, a system of questions, questionnaire)

(2) วิธีถาม, การสอบถาม, การสืบสวน, ปัญหา (mode of asking, inquiry, investigation, question)

(3) การถาม, การสอบถาม, การไต่ถาม (asking, enquiring, questioning)

ปญฺหา” ในภาษาบาลีแจกรูปเป็น “ปญฺโห” (คำเพศชาย) ด้วย แต่ในภาษาไทยนำมาใช้เฉพาะรูป “ปัญหา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปัญหา : (คำนาม) ข้อสงสัย, ข้อขัดข้อง, เช่น ทําได้โดยไม่มีปัญหา, คําถาม, ข้อที่ควรถาม, เช่น ตอบปัญหา, ข้อที่ต้องพิจารณาแก้ไข เช่น ปัญหาเฉพาะหน้า ปัญหาทางการเมือง. (ป.).”

พระพุทธศาสนาเสนอแนะเทคนิคการแก้ปัญหา (mode of answering questions) ไว้ 4 วิธี คือ –

(1) เอกังสพยากรณ์ – “โดยตรง” (direct) เทียบกับรูปแบบการรบ = เข้าปะทะซึ่งหน้าแบบใครดีใครอยู่

(2) วิภัชชพยากรณ์ – “มีเงื่อนไขประกอบ” (qualified) = แยกกำลังข้าศึกออกแล้วเข้าตีเป็นด้านๆ ไป

(3) ปฏิปุจฉาพยากรณ์ – “หลังจากได้สอบถามเพิ่มเติม” (after further questioning) = หยั่งเชิง หลอกล่อ ซุ่มโจมตีไปเรื่อยๆ จนกว่าจะสบโอกาสเผด็จศึก

(4) ฐปนียพยากรณ์ – “ไม่ตอบหรือเก็บไว้โดยไม่เฉลย” (not to be answered or left undecided) = หย่าศึก เลิกรบ เมื่อเห็นว่ารบไปก็ไร้ประโยชน์

: มองเห็นแค่ตัวปัญหา มีทางแพ้

: มองไกลไปถึงวิธีแก้ มีทางชนะ

#บาลีวันละคำ (854)

19-9-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *