บาลีวันละคำ

เทพดนัยนันทยากร (บาลีวันละคำ 2448)

เทพดนัยนันทยากร

…………..

ในพระบรมมหาราชวังมีพระที่นั่งหมู่หนึ่ง ตั้งชื่อคล้องจองกันอย่างไพเราะเพราะพริ้งนับได้ถึง 10 ชื่อ ดังนี้ –

(1) มูลสถานบรมอาสน์

(2) สมมติเทวราชอุปบัติ

(3) ดำรงสวัสดิ์อนัญวงศ์

(4) นิพัทธพงศ์ถาวรวิจิตร

(5) บรมราชสถิตยมโหฬาร

(6) อมรพิมานมณี

(7) สุทธาศรีอภิรมย์

(8) บรรณาคมสรนี

(9) ปรีดีราชวโรทัย

(10) เทพดนัยนันทยากร

ผู้เขียนบาลีวันละคำขอนำชื่อพระที่นั่งแต่ละองค์มาแยกศัพท์และแปลสู่กันฟังตามสติปัญญา เพื่อเป็นอลังการทางภาษาและเป็นเครื่องประเทืองปัญญาตามสมควร

อนึ่ง พึงทราบว่า ชื่อพระที่นั่งเหล่านี้เป็นวิสามานยาม (proper name) การแยกศัพท์และแปลจึงกระทำไปเท่าที่ตาเห็น ซึ่งอาจคลาดเคลื่อนไปจากเจตนาของผู้ตั้งชื่อก็เป็นได้

อีกประการหนึ่ง ขอบเขตของบาลีวันละคำมีเพียงแค่แยกศัพท์และแปลความหมายเท่านั้น มิได้แสดงรายละเอียดอื่นๆ ของพระที่นั่งแต่ละองค์ประกอบไว้ด้วย

ดังนั้น หากญาติมิตรท่านใดมีข้อมูลที่แตกต่างไปจากที่แสดงไว้ก็ดี มีรายละเอียดอื่นๆ เกี่ยวกับพระที่นั่งแต่ละองค์ก็ดี หากจะกรุณานำมาร่วมเสนอไว้เพื่อบูรณาการองค์ความรู้ ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

…………..

เทพดนัยนันทยากร” อ่านว่า เทบ-พะ-ดะ-ไน-นัน-ทะ-ยา-กอน หรือจะอ่านว่า เทบ-ดะ-ไน-นัน-ทะ-ยา-กอน ก็ได้ แยกศัพท์เป็น เทพ + ดนัย + นันทิ + อากร

(๑) “เทพ

บาลีเป็น “เทว” อ่านว่า เท-วะ รากศัพท์มาจาก ทิวฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง, เล่น, สนุก, เพลิดเพลิน) + ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ทิ-(วฺ) เป็น เอ (ทิวฺ > เทว)

: ทิวฺ + = ทิว > เทว (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้รุ่งเรืองด้วยฤทธิ์ของตน” (2) “ผู้เพลิดเพลินด้วยเบญจกามคุณ

ความหมายของ “เทว” ที่มักเข้าใจกัน คือหมายถึง เทพเจ้า, เทวดา

แต่ความจริง “เทว” ในบาลียังมีความหมายอีกหลายอย่าง

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เทว” ไว้ดังนี้ –

(1) good etc. (สิ่งที่ดี และอื่นๆ)

(2) a god, a deity, a divine being (เทวดา, เทพเจ้า, เทพ)

(3) the sky, rain-cloud, rainy sky, rain-god (ท้องฟ้า, เมฆฝน, ท้องฟ้ามีฝน, เทพแห่งฝน)

เทว” เมื่อใช้ในภาษาไทยแปลง เป็น ตามสูตรที่นิยมทั่วไป เช่น วร เป็น พร วิวิธ เป็น พิพิธ : เทว > เทพ

(๒) “ดนัย

บาลีเป็น “ตนย” (ตะ-นะ-ยะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) ตนุ (ตัว, กาย) + ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ อุ ที่ ตนุ (ตนุ > ตน), ลบ กฺวิ, แปลง ชนฺ เป็น อย

: ตนุ + ชนฺ = ตนุชนฺ + กฺวิ = ตนุชนกฺวิ > ตนชนกฺวิ > ตนชน > (แปลง ชน เป็น อย : ตน + อย = ) ตนย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เกิดจากกาย

(2) ตนฺ (ธาตุ = แผ่ไป) + อย ปัจจัย

: ตนฺ + อย = ตนย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้แผ่ความรักไว้ในตน

ตนย” (ปุงลิงค์) ในบาลีหมายถึง ลูกหลาน, บุตรชาย (offspring, son)

อนึ่ง ศัพท์นี้บาลีเป็น “ตนุย” (ตะ-นุ-ยะ) ก็มี ถ้าใช้เป็นพหูพจน์ว่า “ตนุยา” จะหมายถึง ลูกๆ ซึ่งรวมทั้งลูกชายและลูกสาว (son & daughter)

อภิปราย :

บาลี “ตนย” สันสกฤตเป็น “ตนย” และมี “ตนยา” ด้วย

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(1) ตนย : (คำนาม) ‘ดนัย,’ บุตร; a son, a male descendant.

(2) ตนยา : (คำนาม) ‘ดนยา,’ บุตรี; a daughter, a female descendant.

ในภาษาไทยใช้เป็น “ดนยะ” แปลว่า ลูกชาย “ดนยา” แปลว่า ลูกสาว และ “ดนัย” แปลว่า ลูกชาย

แต่ที่น่าสังเกตคือคำอ่าน

ดนยะ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกคำอ่านไว้อย่างเดียวว่า ดะ-นะ-ยะ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกคำอ่านเพิ่มขึ้นอีกแบบหนึ่ง คืออ่านว่า ดน-นะ-ยะ ก็ได้

ดนยา” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกคำอ่านไว้อย่างเดียวว่า ดะ-นะ-ยา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกคำอ่านเพิ่มขึ้นอีกแบบหนึ่ง คืออ่านว่า ดน-นะ-ยา ก็ได้

โดยเฉพาะคำว่า “ดนยา” ที่เป็นชื่อคน เคยได้ยินคนออกเสียงว่า ดน-ยา ตามรูปคำก็ชวนให้อ่านแบบนั้น ถ้าอ่านแบบนี้กันมากๆ พจนานุกรมฯ ฉบับที่จะชำระพิมพ์คราวต่อไปก็คงต้องเพิ่มคำอ่านขึ้นอีกแบบหนึ่ง

ใครชื่อ “ดนยา” ก็คงจะลำบากใจอยู่บ้างว่าจะให้อ่านแบบไหน

ดะ-นะ-ยา

ดน-นะ-ยา

หรือ ดน-ยา

(๓) “นันทิ

บาลีเป็น “นนฺทิ” (นัน-ทิ) รากศัพท์มาจาก นนฺทฺ (ธาตุ = ยินดี) + อิ ปัจจัย

: นนฺทฺ + อิ = นนฺทิ แปลตามศัพท์ว่า “ความยินดี

นนฺทิ” (อิตถีลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ความดีใจ, ความร่าเริง, ความเพลิดเพลิน, ความหรรษา (joy, enjoyment, pleasure, delight in)

(2) เครื่องดนตรี โดยเฉพาะคือ กลองแสดงความร่าเริงดีใจ (a musical instrument: joy-drum)

(๔) “อากร

บาลีอ่านว่า อา-กะ-ระ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ปัจจัย

: อา + กรฺ + = อากร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำไปทั่วๆ” “ผู้ทำไปข้างหน้า” หมายถึง บ่อ, แหล่งกำเนิดของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (a mine)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

อากร : (คำนาม) หมู่, กอง, เช่น พลากร (พล + อากร); บ่อเกิด, ที่เกิด, เช่น ทรัพยากร ศิลปากร; ค่าธรรมเนียมอย่างหนึ่งที่รัฐบาลเรียกเก็บ เช่น อากรรังนก อากรมหรสพ; คำเพิ่มข้างหลังของคำเดิม เมื่อเพิ่มแล้ว หมายถึงพวกหรือหมู่ เช่น ดารากร นรากร ทวิชากร ประชากร หรืออาจมีความหมายคงเดิมก็ได้ เช่น พระปฏิมากร.”

การประสมคำ :

(๑) เทพ + ดนัย = เทพดนัย แปลว่า “ลูกหลานของเทพยดา” ถือเอาความว่า ลูกหลานของเจ้านาย

(๒) นันทิ + อากร แปลง อิ ที่ นันทิ เป็น (นันทิ > นันทย + อากร ) = นันทยากร แปลว่า “บ่อเกิดแห่งความบันเทิง

(๓) เทพดนัย + นันทยากร = เทพดนัยนันทยากร แปลว่า “บ่อเกิดแห่งความบันเทิงสำหรับลูกหลานของเทพยดา

พระที่นั่ง “เทพดนัยนันทยากร” เป็นห้องบรรทมของสมเด็จพระราชโอรสและสมเด็จพระราชธิดา

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ความสุขแท้อยู่ไม่ไกล

: แค่หมั่นฝึกใจให้บันเทิงด้วยธรรม

#บาลีวันละคำ (2,448)

24-2-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *